จากกรณีตรวจพบปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อปลูกทุเรียนโดยกลุ่มทุนต่างชาติ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมและป่าสียัด หมู่ 20 บ้านห้วยนา และหมู่ 14 บ้านเขากล้วยไม้ ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ภายใต้นโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ทั้งยังพบว่ามีการสวมสิทธิในที่ดินที่จัดสรรให้กับราษฎร ในโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ชุมชน ของ คทช. ที่ทางเดลินิวส์ได้นำเสนอข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่จุดกำเนิด คทช. นโยบาย และการดำเนินการในการจัดการที่ดิน รวมไปถึงเงื่อนไขต่างๆ ของผู้มีสิทธิ รวมไปถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ความคืบหน้าเรื่องนี้ ทีมข่าวเดลินิวส์ ยังคงสัมภาษณ์พิเศษ นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ได้แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) นั้น ได้กำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตไว้คือ ต้องให้ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็นผู้ขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ เมื่อได้รับอนุญาตแล้วถึงจะนำ “ที่ดิน” มาจัดให้กับประชาชนผู้ที่มีสิทธิตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งผ่านการสำรวจไว้แล้ว ด้วยสาเหตุนี้ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านผู้ที่ได้รับสิทธิ รู้สึกไม่มั่นคง เพราะไม่ใช่ผู้ที่ได้รับอนุญาตโดยตรงจาก “กรมป่าไม้” ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่แปลง คทช.ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีปัญหาเรื่อง “นายทุนใหญ่” เข้ามาสวมสิทธิหรือมีการนำรายชื่อบุคคลอื่น นอกพื้นที่เข้ามาใช้สิทธินั้น ตามข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ว่าฯ อาจจะต้องเดือดร้อนไปด้วย เนื่องจากเป็นผู้ที่ขออนุญาตจากกรมป่าไม้ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา หากผู้ว่าฯ จะทำเรื่องคืนพื้นที่ดินให้กรมป่าไม้ ตนมองว่า หากมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ชาวบ้านจะทำอย่างไร ชาวบ้านเดือดร้อนแค่ไหน

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องการทำมาหากิน การที่หน่วยราชการบอกว่า เงื่อนไขการอนุญาต ต้องให้ผู้ได้รับอนุญาตปลูกป่า 3 อย่าง ใช้ประโยชน์ 4 อย่าง อย่างกรณีเป็น “สวนทุเรียน” ก่อนการได้รับอนุญาต ถ้าจะให้ชาวบ้านโค่นทุเรียนเพื่อไปปลูกป่า 3 อย่าง ใช้ประโยชน์ 4 อย่าง ชาวบ้านคงไม่มีใครยอม ถ้าเป็นแบบนี้ กรมป่าไม้หรือผู้ว่าฯ จะไปยึดที่ดินเขาคืนไหม แต่ถ้าเขาได้รับอนุญาตแล้วเขาไปทำสวนทุเรียนภายหลัง แสดงว่าเขาทำผิดเงื่อนไขการอนุญาต แต่ทำไมเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่รู้ จะเป็นไปได้หรือที่ชาวบ้านจะปลูกทุเรียนต่อกันเป็นแปลงใหญ่ หลายร้อยไร่ขนาดนั้น หรือว่าเจ้าหน้าที่ไม่เคยลงไปสำรวจพื้นที่เลย ตนจึงอยากถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยรู้เห็นมาก่อนจริงหรือ ส่วนตัวมองว่า ผู้ที่ต้องมีส่วนร่วมรับผิดตั้งแต่ต้นก็คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นการสำรวจพื้นที่ ก่อนที่จะมีการจัดสรรตามนโยบาย คทช. มีบันทึกการตรวจสอบพื้นที่หรือไม่ อย่างไรบ้าง หรือหากพบว่าไม่เคยลงไปสำรวจในพื้นที่เลย ก็อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

“ไม่ว่าจะมองเรื่องนี้ไปในทางใด ลำดับแรกเลย คนที่ผิดคนแรกๆ ก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ก่อนการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ คณะอนุกรรมการที่มีหน้าที่จัดสรรที่ดิน รู้มาก่อนหรือไม่ว่าที่ดินที่จะจัดสรรเป็นสวนทุเรียน หรือไม่ใช่สวนทุเรียน หรือรู้หรือไม่ว่าบุคคลที่มายื่นขอที่ดินเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม หรือไม่เคยอยู่ในพื้นที่มาก่อน แต่มาใช้ชื่อในการขอใช้สิทธิเรื่องต่างๆ เหล่านี้ จึงมองได้ว่า ที่ผ่านมาปัญหาตั้งแต่ต้น เกิดขึ้นแน่นอน เป็นเรื่องความบกพร่องของข้าราชการ อย่าเพิ่งออกมากล่าวโทษแต่ชาวบ้าน” นายบารมี กล่าวทิ้งท้าย.