นายธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ ผู้จัดการทั่วไป ทรู ดิจิทัล พาร์ค เปิดเผยว่า ทรู ดิจิทัล พาร์ค ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติเข้าลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ด้วยบริการครบวงจรที่ตอบทุกความต้องการด้านการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว ผ่าน ทรูดิจิทัล พาร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ ที่จะช่วยให้สามารถเริ่มต้นประกอบธุรกิจในประเทศไทยได้สะดวก ง่าย ไม่ยุ่งยาก พร้อมโอกาสสร้างธุรกิจเติบโตได้เร็วตามเป้าหมาย ครอบคลุมบริการสำคัญๆ ทั้งเพื่อธุรกิจและเพื่อการพำนักระยะยาว
“การทำงานอย่างใกล้ชิดกับบีโอไอ มานานกว่า 6 ปี และนักลงทุนต่างชาติจากทุกทวีปทั่วโลก ทำให้เข้าใจความท้าทายที่ชาวต่างชาติต้องเผชิญ โดยเฉพาะในด้านการเข้ารับบริการต่างๆ ในประเทศไทย ที่ยังไม่มีการรวมศูนย์ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการวีซ่า พื้นที่ทำงาน คำแนะนำด้านกฎหมาย การหาที่พักอาศัย รวมถึงการเข้าถึงเครือข่ายธุรกิจ ทำให้มีความยุ่งยากซับซ้อน เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้ามาดำเนินธุรกิจและใช้ชีวิตในประเทศไทย”

นายธาริต กล่าวว่า ทรูมีความร่วมมือกับพันธมิตรกว่า 5,800 ราย ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งบริษัทเทคระดับโลก องค์กรเอกชนชั้นนำ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนผู้ประกอบการเทครุ่นใหม่และสตาร์ทอัพในแวดวงธุรกิจต่างๆ และให้บริการครบวงจรครอบคลุมทั้งบริการด้านกฎหมาย การเงิน การลงทุน บริการสนับสนุนทางธุรกิจ และอีกมากมาย จึงช่วยลดความยุ่งยากและประหยัดเวลาในการติดต่อขอรับบริการต่างๆ สามารถประมาณการค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมได้ชัดเจน และที่สำคัญยังได้รับคำแนะนำและปรึกษาเกี่ยวกับตลาดในประเทศไทย เปิดโอกาสใหม่ๆในการเริ่มต้นธุรกิจ โดยมีบริการวีซ่า บริการด้านธุรกิจแบบครบวงจร และสถานทรองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต
“ทรูได้รับแต่งตั้งจากบีโอไอให้เป็นตัวแทนที่ได้รับการรับรอง ให้ดูแลชาวต่างชาติในการยื่นขอวีซ่าพำนักระยะยาว หรือ และผู้ให้บริการด้านการสนับสนุนการเข้าสู่ตลาดประเทศไทย ที่ผ่านมา เราสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติให้ได้รับการอนุมัติวีซ่า สมาร์ท หรือ เอส วีซ่า มากกว่า 100 ราย จาก 32 สัญชาติ เพื่อประกอบธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ดิจิทัล การเงิน ความบันเทิง และการศึกษา” นายธาริต กล่าว
รายงานของ ASEANstats เปิดเผยมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของ 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่า ประเทศไทยรั้งท้ายอยู่อันดับ 6 และมีอัตราการเติบโตลดลงต่อเนื่อง ในปี 2567 ที่ผ่านมา FDI ของประเทศไทยมีมูลค่าราว 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2566 ที่มีมูลค่า 11.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคอาเซียนยังคงน่าลงทุนและมีเม็ดเงิน FDI เติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันที่เข้มข้นเพื่อดึงดูดเงินลงทุนเข้าประเทศ ประเทศไทยจึงต้องเร่งส่งเสริมการลงทุน รวมพลังทุกภาคส่วน ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการลงทุนของชาวต่างชาติในอาเซียน หากชาวต่างชาติหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน จะไม่มีการลงทุนใหม่ๆ เข้ามา ส่งผลให้การจ้างงานในประเทศลดลง และกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ