การติดตามจุดความร้อนในปี 67 โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ แสดงให้เห็นถึงการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเผานาข้าว คิดเป็นหนึ่งในสามของการเผาในที่โล่ง และมีขนาดพื้นที่เผาใหญ่ที่สุดเพิ่มขึ้นสามเท่าตั้งแต่เดือน ม.ค.–พ.ค. 67 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 66

การเผาพื้นที่เกษตรเกิดจากการที่เกษตรกรเตรียมแปลงเกษตรสำหรับการเพาะปลูกครั้งต่อไปภายในระยะเวลาสั้น โดยคิดว่าเป็นวิธีการที่ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาในพื้นที่ชลประทานที่ปลูกข้าวนอกฤดูกาล ซึ่งจำนวนมากยังเผาฟางและตอซังข้าวเพราะไม่สามารถใช้บริการรถไถกลบได้ทั่วถึง และขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลดิน

การเผาพื้นที่เกษตรไม่เพียงแต่สร้างปัญหาด้านฝุ่นควัน ซึ่งกำลังเป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขที่รุนแรง แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของดิน ต้นทุนและความเป็นอยู่ของเกษตรกร การเผาทำลายความชุ่มชื้น และคุณภาพโดยรวมของดิน เมื่อทำการเพาะปลูกเกษตรกรจึงต้องหันไปใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งมีราคาสูงและผันผวนเนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้า

โครงการความร่วมมือระหว่างภูมิภาคด้านนวัตกรรมการเกษตร (โครงการเรน) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาและดำเนินการโดยองค์การวินร็อค ส่งเสริมให้ชาวนาย่อยสลายฟางและตอซังข้าวด้วยจุลินทรีย์หลังการเก็บเกี่ยว เพื่อเตรียมแปลงให้ทันสำหรับการปลูกข้าวในรอบถัดไป โดยไม่ต้องเผา นอกจากนี้ยังเพิ่มความสมบูรณ์ของดินสำหรับปลูกข้าว

การทดสอบในพื้นที่นาจริงได้แสดงว่า จุลินทรีย์มีประสิทธิภาพในการย่อยตอซังให้นุ่มลงพร้อมไถกลบภายใน 7  วัน และทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น แปลงนาจึงมีความหนาแน่นมากขึ้นเพราะต้นข้าวดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น และยังเห็นได้ชัดว่าน้ำในแปลงที่ใช้จุลินทรีย์มีกลิ่นเหม็นลดลง และการทดสอบพบว่าทำให้ก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกลดลง

ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์เพื่อการย่อยสลายหลายชนิดในตลาด หากคิดต้นทุนต่อไร่จะอยู่ที่ประมาณ 70 – 100 บาท มีวิธีการใช้งานที่ง่าย และไม่เพิ่มภาระมากเกินไปให้ชาวนา แต่ช่วยชาวนาประหยัดต้นทุนอย่างมาก

โดยกรมส่งเสริมการเกษตรคำนวณว่า การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางให้เป็นปุ๋ยที่พืชนำไปใช้ต่อได้จะสามารถช่วยเกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับปุ๋ยเคมีประมาณ 700 บาทต่อไร่ และยังเพิ่มความชื้นในดินและการระบายอากาศ  ลดความเครียดของพืชและดินเค็ม การใช้ปุ๋ยเคมีที่ลดลงนอกจากลดต้นทุนแล้วยังช่วยการปนเปื้อนของไนโตรเจนในแหล่งน้ำ และลดก๊าซ
ไนตรัสออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ดีการใช้จุลินทรีย์เพื่อย่อยสลายฟางและตอซังข้าวในประเทศไทยยังเป็นไปอย่างจำกัด โดยโครงการเรน มีเป้าหมายส่งสริมให้เกษตรกรไทยใช้นวัตกรรมการเกษตรในวงกว้างผ่านกลไกตลาด โดยส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ สร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อการทำงานประสานกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และสร้างเครือข่ายการจำหน่ายในระดับชุมชน และการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์

ปีที่ผ่านมาโครงการเรนได้ทำการทดสอบผงจุลินทรีย์กับตอซังข้าวในจังหวัดขอนแก่นและชัยภูมิ และเริ่มโครงการ “ลุ่มน้ำชีไม่เผา” ให้ชาวนาที่ปลูกข้าวนอกฤดูกาลในขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคามใช้จุลินทรีย์

ในเดือนเม.ย. 68 โครงการเรน จะเริ่ม โครงการ “ไม่เผา ๙๙” จะเปิดแปลงสาธิตจุลินทรีย์ที่ศูนย์บริการการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนาทั่วประเทศ และมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะส่งเสริมความพยายามร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ เพื่อช่วยให้เกษตรกรปฏิบัติตามแนวทางความยั่งยืนผ่านการนำสารจุลินทรีย์มาใช้ย่อยสลายฟางและตอซังข้าว และปรับปรุงดิน

วิลเลียม สปาร์กส์ ผู้อำนวยการโครงการเรน กล่าวว่า “เมื่อเราบอกเกษตรกรว่าห้ามเผา เราควรเติมประโยคนั้นให้จบ นั่นคือเกษตรกรควรทำอย่างไรต่อไป โครงการเรนเสนอว่า ไม่เผาแล้วใช้จุลินทรีย์” ในโครงการ “ไม่เผา ๙๙” โครงการเรนจะรับสมัครชาวนาต้นแบบ 99 คน ที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่เผาแปลง ชาวนาเหล่านี้จะได้รับชุดเครื่องมือ ซึ่งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ และความช่วยเหลือในการพัฒนาแปลงสาธิต นอกจากนี้โครงการเรนยังจะสร้างเครือข่ายร้านค้าวัตถุดิบในจังหวัดและพื้นที่โดยรอบให้มีผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์

นายสปาร์กส์กล่าวว่า “โครงการไม่เผา 99 ช่วยให้เกษตรกรได้เรียนรู้จากแปลงสาธิตโดยตรง และสมัครขอรับการสนับสนุนในฐานะเกษตรกรตัวอย่าง เกษตรกรตัวอย่างเหล่านี้จะผลักดันให้มีการนำจุลินทรีย์ไปใช้ในวงกว้างขึ้น และเชื่อมต่อกับร้านค้าปัจจัยการผลิตเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ลดการเผาในที่โล่ง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจทางเศรษฐกิจสำหรับเกษตรกรที่เลือกที่จะไม่เผา”

หลังจากโครงการทั้งสอง โครงการเรนจะขยายกิจกรรมให้ครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เหลือของประเทศ
ไทย รวมถึงภาคกลางและภาคเหนือ และโครงการเรนมีเป้าหมายที่จะขยายกิจกรรมส่งเสริมจุลินทรีย์เป็นทางเลือกไม่เผาไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.