เมื่อวันที่ 3 เม.ย.นายสุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วย การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของข้าราชการครูและบุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประสงค์ใช้สิทธิในการกู้เงินหรือขอสินเชื่อจากสหกรณ์หรือสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ซึ่งแม้ว่าระเบียบฉบับนี้จะเป็นระเบียบที่ดี แต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินระบุว่าระเบียบดังกล่าวในบางข้อขัดแย้งกับพ.ร.บ.สหกรณ์ ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติปรับแก้ไขใหม่ให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับพ.ร.บ.สหกรณ์ โดยการวางแนวทางของร่างระเบียบฉบับใหม่นั้น ผู้ที่ขอกู้เงินจะต้องไปเช็กเครดิตตัวเองมาก่อนว่ามีการกู้เงินซ้ำซ้อนจากแหล่งเงินกู้ไหนหรือไม่ เพราะเรื่องเครดิตเป็นสิทธิส่วนบุคคล เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาอนุมัติปล่อยกู้ได้ โดยครูจะได้ทราบศักยภาพของตัวเองว่ามีกำลังชำระหนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่เป็นการกู้หนี้จนเกินตัว และมีเงินเดือนเหลือประทังชีวิต
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ติดตามประเด็นของกฎหมายล้มละลาย โดยจะเปิดโอกาสให้กลุ่มข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาเมื่อโดนฟ้องล้มละลายแล้วไม่จำเป็นจะต้องให้ออกจากราชการ เนื่องจากเป็นเรื่องการดำเนินคดีทางแพ่งไม่ใช่คดีของการทุจริตสามารถมีหลักค้ำประกันได้ ซึ่งประเด็นนี้อยู่ระหว่างการจัดทำประชาพิจารณ์และรับฟังความเห็นอยู่ เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วจากนั้นพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป โดยขณะนี้เท่าที่ทราบมีครูส่วนหนึ่งกำลังจะถูกฟ้องล้มละลายจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ดังนั้นที่ประชุมจะทำหนังสือไปถึงธอส.ขอให้ชะลอการฟ้องล้มลายออกไปก่อน เพื่อกันครูได้รับสิทธิไม่ต้องโดนให้ออกจากราชการ ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ทำหลักสูตรการเงินบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียได้เรียนรู้และรู้จักวิธีการออมเงินด้วย