เทศกาลวันหยุดยาว “สงกรานต์ปี 68” หลายคน มีการเดินทางกลับบ้านหรือท่องเที่ยว ซึ่งก็คงมีอุปกรณ์ไอทีและแกดเจ็ตต่างๆ ติดตัวไปเพื่อใช้ติดต่อสื่อสาร หรือ เพื่อความบันเทิงและอำนวยความสพดวกต่างๆ
แน่นนอนว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการเล่นน้ำสืบสานประเพณีไทย กันทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย “จัดเต็ม” กิจกรรมเล่นสาดน้ำสงกรานต์แบบมันหยด!! ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่อุปกรณ์ต่างๆ จะมีสิทธิโดนน้ำแบบไม่ตั้งใจ
วันนี้ จึงมีเคล็ดไม่ลับ! มาบอกกันเพื่อป้องกันไม่ให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแกดเจ็ต ที่ใช้ส่วนตัวเสียหาย ใช้งานไม่ได้ ไม่ต้องเสี่ยงที่ต้องเสียเงินซ่อม หรือต้องซื้อใหม่ ยิ่งช่วงนี้เศรษฐกิจแบบนี้ เซฟๆ เงินกันไว้ดีกว่า เริ่มกันที่
สมาร์ตโฟน
แม้ว่าสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่วางขายในตลาด จะมีมาตรฐานในการกันน้ำได้ ในมาตรฐานระดับ IP68 และ IP67 ที่สามารถแช่อยู่ในน้ำได้เป็นเวลาสูงสุด 30 นาที แต่ก็ไม่ควรเสี่ยงให้โดนน้ำ เพราะแม้ว่าสมาร์ตโฟนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานกันน้ำ ก็จริง แต่การเล่นสงกรานต์ ต้องเจอสารพัดน้ำจากแหล่งต่างๆ ซึ่งก็ไม่รู้จะมีความสะอาดมากน้อยแค่ไหน หากเป็นน้ำจากคูคลอง อาจมีตะกอน มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก จึงควรหาซองกันน้ำมาใช้กันได้เลย ซึ่งก็มีขายไม่กี่บาท หรือบางทีมีแจกกันในช่วงนี้ ซึ่งก็มีวิธีตรวจซองกันน้ำที่มีคุณภาพ กันน้ำได้จริงๆ โดยสามารถทดสอบด้วยการนำไปลองแช่น้ำ 10-15 นาที แล้วดูว่ามีน้ำซึมเข้าไปในถุงหรือไม่
อีกวีธีที่จะช่วยป้องกันได้ดียิ่งขึ้น คือ อาจจะหาถุงพลาสติก มาใส่มือถือก่อนแล้วใช้หนังยางรัด ก่อนที่จะนำไปใส่ซองกันน้ำ ก็จะเป็นการป้องกันสองชั้น ช่วยให้มือถือของปลอดภัยจากน้ำเข้าในช่วงสงกรานต์นี้

แต่ถ้าใครพลาดน้ำเข้ามือถือ ซึ่งหลายๆ คนใช้วิธีการ โดยการนำไปวางไว้ในถังข้าวสาร หรือ ใช้ไดร์เป่าผมมาเป่านั้น เป็นวีธีไม่ถูกต้อง ไม่แนะนำเช่นกัน เพราะในถังข้าวสารอาจจะมีเศษข้าวเล็กๆ กากเปลือกข้าว อาจส่งผลให้มือถือ ได้รับความเสียหายพิ่มขึ้นได้ จากที่เศษดังกล่าว หลุดเข้าไปตามซอกเล็กๆ ของมือถือ ส่วนการไดร์เป่าผมมาเป่านั้น ไอความร้อนจากลมของไดร์เป่าลม อาจทำให้มือถือพังได้
สำหรับวีธีที่ดีที่สุด ในการแก้ไขด้วยตนเองเบื้องต้น คือ ปิดเครื่องแล้ว รีบเอาผ้าเช็ดมือถือให้แห้งก่อน จากนั้นให้หาซองดูดความชื้น ที่ข้างในเป็น ซิลิกาเจล (Silica Gel) สารช่วยดูดความชื้น มาใส่ในกล่อง หรือซองที่มีซิบล็อก พร้อมกับมือถือ เพื่อทำการไล่ความชื้นออกก่อน โดยให้ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 วัน เพื่อให้ดูดความชื้นออก แล้วลองเปิดเครื่อง หากสามารถใช้งานได้ตามปกติ ก็ไม่ต้องส่งซ่อมให้เสียเงิน
แต่ถ้ายังไม่หาย คงต้องส่งเข้าศูนย์บริการ หรือที่ร้านรับซ่อมมือถือ เพื่อให้ช่างที่เชี่ยวชาญตรวจเช็คสภาพเครื่องให้ว่ามีความเสียหายตรงส่วนไหน ประเมินราคาค่าอะไหล่ และค่าซ่อม แล้วลองพิจาณาดูว่า ค่าซ่อมที่ต้องจ่าย กับการเสียเงินซื้อเครื่องใหม่เลย อย่างไหนจะคุ้มกว่ากัน
โน้ตบุ๊ก
ช่วงสงกรานต์ หลายๆ คนยังจำเป็นต้องมีโน้ตบุ๊ก ติดตัวไปด้วย เผื่องานเข้า โดนสั่งงานแบบด่วน จำเป็นต้องทำงาน ซึ่งสำคัญคือต้องป้องกันโน้ตบุ๊กให้ดี รอดพ้นจากการโดนน้ำ ไม่เช่นนั้น ต้องเสียเงินซ่อม หรือซื้อใหม่ โดยเฉพาะหากโดนน้ำแล้วเสี่ยงที่เครื่องจะพังได้มากๆ จึงควรเก็บโน้ตบุ๊กให้ดีใส่กระเป๋าที่กันน้ำ หรือใช้เคสกันน้ำ หรือไม่ถือนำไปในพื้นที่ที่มีการเล่นน้ำ
แต่เมื่อพลาดโน้ตบุ๊ก เปียกน้ำ วิธีแก้ไขในเบื้องต้น คือ ให้รีบปิดเครื่องทันที ห้ามเปิดใช้งานโน้ตบุ๊กเด็ดขาด เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร และให้ถอดปลั๊กและแบตเตอรี่ออกทันที แล้วรีบซับน้ำออกจากตัวเครื่อง โดยใช้ผ้าแห้ง โดยจุดที่ต้องตรวจสอบเป็นพิเศษ คือ บริเวณช่องต่างๆ เช่น พอร์ต USB, ช่องเสียบหูฟัง ที่น้ำอาจไหลหลุดลอดเข้าไปสร้างความเสียหายได้ง่าย

รวมถึงให้คว่ำโน้ตบุ๊ก เพื่อให้น้ำไหลออกจากตัวเครื่องได้ง่ายขึ้น และให้ใช้ลมเย็นเป่า เพื่อไล่น้ำออกจากซอกต่างๆ และขอย้ำว่าอย่าใช้ลมร้อน หรือนำไปตากแดดเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลเสียต่อชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเครื่องได้ และให้นำตัวดูดความชื้น คือ ซิลิกาเจล หรือถุงดูดความชื้นใส่ในถุงซิปล็อก วางโน้ตบุ๊กไว้ในถุง ปิดให้สนิท ทิ้งไว้ 24-48 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม หากโน้ตบุ๊กเปียกน้ำมาก ทางที่ดีที่สุด คือ ควรนำไปให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบโดยเร็วที่สุด
พาวเวอร์แบงก์
ถือเป็นอีกหนึ่งแกดเจ็ตที่จำเป็นจริง ๆ ทุกคนต้องมีพกติดตัว ในยุคนี้ สำหรับ พาวเวอร์แบงก์ หรือแบตเตอรี่สำรอง ช่วยให้เรายังสามารถใช้มือถือได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องคอยหาจุดเสียบชาร์จมือถือที่อาจไม่สะดวกหากกำลังเดินทาง โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ใครที่เดินทางโดยรถยนต์ สิ่งสำคัญที่ต้องระวังก็คืออย่าวางพาวเวอร์แบงก์ทิ้งไว้ในรถยนต์ โดยเฉพาะหากต้องจอดรถตากแดดเป็นเวลานาน รวมถึงอย่านำไปวางไว้ในสถานที่ที่ที่มีความร้อนสูง เพราะมีความเสี่ยงที่พาวเวอร์แบงก์จะทนความร้อนไม่ไหว เกิดระเบิด หรือไฟลุกขึ้นมาขึ้น จะเป็นอันตรายได้ อาจทำให้การเดินทางกลับบ้าน หรือทริปท่องเที่ยวหมดสนุกไปเลย

และในปัจจุบันมีข่าวว่าเกิดพาวเวอร์แบงก์ระเบิดบนเครื่องบิน ทำให้หลาย ๆสายการบินออกกฎใหม่ตั้งแต่ มี.ค. ที่ผ่านมา จากเดิมที่ห้ามโหลดใต้ท้องเครื่องบินอยู่แล้ว โดยได้เพิ่มเติม คือ ห้ามเก็บพาวเวอร์แบงก์ในช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะ ต้องพกติดตัวตลอดการเดินทาง ห้ามใช้งานและห้ามชาร์จพาวเวอร์แบงก์ทุกกรณี และห้ามเสียบชาร์จพาวเวอร์แบงก์กับปลั๊กไฟหรือ USB บนเครื่องบิน ซึ่งหากช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ เราต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ก็ต้องศึกษากฎระเบียบของสายการบินนั้นๆ ว่ามีข้อห้ามอย่างไรบ้างด้วย
หูฟัง
คนที่ต้องเดินทาง ติดดูหนัง ฟังเพลง แน่นอนว่า “หูฟัง” จะเป็นอุปกรณ์ที่ต้องมีพกติดตัวไว้ โดยปัจจุบัน หูฟังมีวางขายกันหลายแบรนด์ หลายราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น ทั้งหูฟังมีสาย ไร้สาย หูฟังบลูทูธ ก็สามารถเลือกซื้อได้ตามความชอบและกำลังทรัพย์เงินในกระเป๋าของแต่ละคน โดยส่วนใหญ่หูฟังจะมีคุณสมบัติต่างๆ หนึ่งในนั้น คือ การกันเหงื่อ กันน้ำ แต่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ หูฟังอาจเปียกน้ำ จนทำให้น้ำเข้าไปขังอยู่ในตัวหูฟัง ส่งผลให้ระบบเสียงมีความเสียหายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ซึ่งหากหูฟัง เปียกน้ำ ให้รีบปิดหยุดการทำงานของหูฟังทันที ถ้าเป็นหูฟังแบบมีสาย ให้ดึงออกจากอุปกรณ์ที่ทำการเชื่อมต่ออยู่ แต่ถ้าเป็นหูฟัง True Wireless ไร้สายนั้น สิ่งสำคัญ คือ อย่าเก็บลงเคสเพราะอาจจะทำให้ช็อตจากเคสที่จะชาร์จไฟ โดยเมื่อปิดหูฟังแล้ว ให้ดึงเอาจุกหูฟัง และฟองน้ำหูฟังออกมาเพื่อป้องกันน้ำขัง จากนั้นให้ใช้สำลีก้านหรือทิชชูม้วนปลายแหลม ทำความสะอาดในมุมหรือซอกเล็กๆ ให้แห้ง ข้อสำคัญ คือ ห้ามอย่านำไปตากแดด นำเข้าไมโครเวฟ หรือเป่าด้วยลมร้อน เพราะความร้อนที่สูงเกินไป จะทำให้หูฟังเสียหายได้

โดยให้ใช้วีธี นำหูฟังใส่ลงไปในถุงแล้วดูดอากาศออกให้หมด และใช้ลิกาเจลหรือถุงดูดความชื้นใส่ในถุงซิปล็อก ทิ้งไว้ประมาณ 48 ชั่วโมง แล้วลองเปิดใช้งานดูว่ายังใช้งานได้หรือไม่ หากไม่หาย หรือเสียงไม่สมบูรณ์ ผิดเพี้ยน ติดๆ ดับๆ คงต้องซื้อใหม่
ทั้งหมดเป็นวิธีการป้องกันและดูแล อุปกรณ์ไอทีและแกดเจ็ตต่างๆ ในช่วงสงกรานต์นี้ ซึ่งน่าจะช่วยให้อุปกรณ์ของทุกๆ คน ปลอดภัยใช้งานได้ต่อไป ไม่เสียหายจากเทศกาลสงกรานต์ปี 68 นี้
ทีมเศรษฐกิจ