เมื่อวันที่ 15 เม.ย.กลายเป็นเรื่องราวที่สร้างความฮือฮาในโลกออนไลน์ เมื่อ “คุณไก่” นางสาวกัญจน์รัตน์ นักธุรกิจสาววัย 50 ปี จากราชบุรี เปิดใจในรายการโหนกระแสถึงการทุ่มเงินกว่า 6 ล้านบาท เพื่อโคลนนิง “เจ้าพะแพง” สุนัขเฟรนช์บูลด็อกที่รักเสมือนลูกสาว ให้กลับมาอยู่เคียงข้างอีกครั้ง โดยลูกสุนัขโคลนนิงตัวใหม่ ซึ่งมีชื่อเดียวกันว่า “พะแพง” วัย 5 เดือน มีสุขภาพแข็งแรงและร่าเริง ซึ่งคุณไก่เผยว่าเป็นผลลัพธ์ของการโคลนนิงที่สำเร็จ และถือเป็นสุนัขโคลนนิงผ่านการตัดต่อพันธุกรรมตัวแรกของประเทศไทย
คุณไก่เล่าว่า “พะแพง” ตัวต้นแบบเสียชีวิตจากโรคคุชชิ่ง ทำให้เธอรู้สึกสูญเสียอย่างมาก จึงติดต่อไปยัง น.สพ.ศุภเสกข์ ศรจิตติ ผู้เชี่ยวชาญด้านสเต็มเซลล์และการโคลนนิง เพื่อขอให้ช่วยนำสุนัขที่รักกลับมาอีกครั้งในร่างใหม่ โดยก่อนดำเนินการโคลนนิง คุณหมอได้สอบถามถึงความพร้อมในการดูแลระยะยาวและการรับมือกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งคุณไก่ยืนยันว่าได้เตรียมพร้อมทุกด้านแล้ว

กระบวนการโคลนนิ่งเริ่มต้นจากการเก็บเซลล์ของพะแพง ส่งไปยังดูไบ เพื่อให้ทีมของ ศ.ดร.ฮวาง วู ซุก ผู้เชี่ยวชาญด้านโคลนนิงชาวเกาหลีใต้ ดำเนินการตัดต่อพันธุกรรมอย่างซับซ้อน ใช้เวลานานกว่า 1 ปี และสำเร็จในความพยายามครั้งที่ 5 โดยคุณไก่เปิดเผยค่าใช้จ่ายทั้งหมดราว 6 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงค่าตัดต่อพันธุกรรมมูลค่าสูงถึง 20 ล้านบาท ที่ได้รับการยกเว้นจากทีมแพทย์
เมื่อ “พะแพง” ตัวใหม่มีอายุ 4 เดือน คุณไก่ได้พบกับลูกสุนัขโคลนนิงเป็นครั้งแรก และรู้สึกประทับใจที่สุนัขจ้องตาเธอราวกับจำกันได้ พร้อมแสดงพฤติกรรมที่เหมือนกับตัวเดิมจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่ คุณไก่กล่าวว่า แม้จะมีเสียงวิจารณ์ถึงการฝืนธรรมชาติ แต่เธออยากให้มองในมุมของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเป็นหนทางที่ความรักสามารถย้อนคืนมาได้โดยไม่เบียดเบียนใคร

ด้าน น.สพ.ศุภเสกข์ ศรจิตติ หรือ “หมอทู” เผยว่า “พะแพง” เป็นสุนัขตัวแรกของไทยที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งแตกต่างจากการโคลนนิงในอดีตที่ไม่เคยมีการตัดต่อยีนส์ โดยกระบวนการโคลนนิง “พะแพง” มีความซับซ้อนและต้องทำซ้ำถึง 7 ครั้งก่อนจะสำเร็จในครั้งที่ 8
หมอทูอธิบายว่า สุนัขที่ผ่านการโคลนนิงมักมีพฤติกรรมเหมือนเดิมแทบทุกประการ รวมถึงความสามารถในการจดจำคนที่ไม่ชอบ และนิสัยเดิมๆ ซึ่ง “พะแพง” ตัวใหม่ก็แสดงให้เห็นเช่นกัน โดยทั่วไป ราคาการโคลนนิ่งอยู่ที่ราว 3.5 ล้านบาท แต่กรณี “พะแพง” มีความซับซ้อนกว่ามาก อย่างไรก็ตาม หมอทูมองว่า การโคลนนิ่งไม่ใช่แค่เรื่องความสุข แต่เป็นทางผ่านของการพัฒนาเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมที่อาจมีประโยชน์ในอนาคต
ขอบคุณเพจ โหนกระแส