เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พล.ท.ยอดชัย ยั่งยืน อดีตรอง ผอ.รมน.ภาค 4 ในฐานะอดีตผู้สมัคร สว.อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เดินทางเข้ายื่นเอกสารหลักฐานต่อ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้สืบสวนสอบสวนความผิดปกติในการเลือก สว.ระดับอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา รวมทั้งปัญหาเรื่องเงินค่าสมัคร 2,500 บาท ที่จะเชื่อมโยงถึงการเลือกตั้งแบบจัดตั้ง โดยมี พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และในฐานะโฆษกดีเอสไอ เป็นผู้แทนรับเรื่อง
โดย พล.ท.ยอดชัย ยั่งยืน อดีตรอง ผอ.รมน.ภาค 4 ในฐานะอดีตผู้สมัคร สว.อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า วันนี้ตนเดินทางมายื่นสำเนาเอกสาร 7 รายการต่ออธิบดีดีเอสไอ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิดไม่นำเงินค่าสมัครสมาชิกวุฒิสภาเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวน 2,500 บาท เนื่องจากตามระเบียบของ กกต. แล้วจะต้องนำเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน แต่เท่าที่ตรวจสอบโดยการสอบถามไปยัง ป.ป.ช. และ สตง. ตนยังไม่ได้รับคำตอบกลับมา จึงมีข้อสงสัยว่าเงิน 2,500 บาทนี้ ตามระเบียบแล้วจะต้องนำเข้าคลังจังหวัดภายในเวลา 3 วัน จากนั้นทางคลังจังหวัดจึงจะส่งไปยังกระทรวงการคลัง แต่เมื่อตนตรวจสอบไปยังกระทรวงการคลังพบว่า ยอดเงินนี้ไม่มีเข้าในบัญชีงบประมาณกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ ตนตั้งข้อสงสัยว่ากรณีที่เงินค่าสมัคร 2,500 บาทนี้ ไม่ถูกนำเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน เนื่องจากมีการแจ้งว่ารับเฉพาะเงินสดเท่านั้น แต่ตามระเบียบแล้ว สามารถรับในรูปแบบเช็คได้ ตนจึงส่งเรื่องไปยัง “สตง.” ว่ามีเงินนำเข้าเป็นรายได้แผ่นดินหรือไม่ เนื่องจากมียอดเงินไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท โดยทาง สตง. ตอบกลับว่า เป็นการเสนอเรื่องที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ ต่อมาตนจึงได้เสนอไปยัง ป.ป.ช. แต่ก็ยังไม่มีคำตอบกลับมา จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดส่งต่อไปยัง “ดีเอสไอ” ช่วยตรวจสอบ ทั้งนี้ หากเงินค่าสมัครดังกล่าว ไม่ถูกนำเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน แล้วถูกนำไปใช้อย่างอื่น มันจะเป็นการพิสูจน์ว่าเป็นความไม่ชอบธรรม มีการสร้างเครือข่าย เป็นการฮั้วหรือไม่
พล.ท.ยอดชัย กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ เหตุผลที่ตนมายื่นให้ตรวจสอบในวันนี้ ไม่ใช่อยู่ดี ๆ มายื่นตรวจสอบ แต่เพราะตนได้ยื่นเรื่องตั้งแต่มีติดรายชื่อผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอบนป้ายบอร์ด ให้เกิดการตรวจสอบว่ารายชื่อทั้งหมดนั้น ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ ซึ่งตนได้ทำเรื่องท้วงติงไปยังอำเภอ แต่ทางอำเภอก็ดำเนินการไปเรื่อย ๆ จนการเลือก สว.เสร็จสิ้น จนตนได้ดำเนินการส่งเรื่องคัดค้านไปยัง กกต. ว่าการเลือก สว.นี้เป็นโมฆะ

เพราะเจ้าหน้าที่ กกต. ไม่ตรวจสอบหลักฐาน สว.4 ซึ่งเป็นหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้เชี่ยวชาญ และยังได้ตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ไม่ถูกต้อง เพราะมาตรา 108 ระบุว่า ผู้ที่สมัครสมาชิกวุฒิสภาจะต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ หรือทำงาน 10 ปี แต่มันต้องไม่ใช่เป็นการเอาลูกจ้างเข้ามา โดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับตนนั้น พบว่าหลายคนมีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่กำหนด บางคนเป็นข้าราชการครู บางคนเป็นข้าราชการกรมชลประทาน บางคนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ยังมีลูกจ้างเทศบาลด้วย
พล.ท.ยอดชัย กล่าวต่อว่า ในวันที่มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอหาดใหญ่ ที่มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ พบความผิดปกติ การดำเนินการหละหลวม อาทิ มีการส่งซิกในห้องกันอย่างเปิดเผย ซึ่งถึงแม้จะมีกล้องวงจรปิด ก็ควรมีการตรวจสอบ เพราะหากไปย้อนดูในการประชาสัมพันธ์ จะมีการเข้มงวดมาก ไม่ว่าจะเป็นการใส่เสื้อสีเดียวกัน หรือการนั่งจับกลุ่มกัน การส่งสัญญาณ จะไม่สามารถดำเนินการได้ แต่พอในการปฏิบัติจริง ผู้สมัครกลับมีการชี้นิ้วให้ลงคะแนนให้แก่กัน แต่ตนไม่เห็นโพย เห็นเพียงการส่งซิกให้กันอย่างน่าเกลียด ดังนั้น ตนมองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรได้ตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดนี้ด้วย เพราะในวันนั้นไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ กกต. จังหวัดมาตรวจสอบความเข้มงวดมาก มีแค่เดินไป-มา และเจ้าหน้าที่ กกต.ระดับอำเภอก็ไม่ได้สนใจเรื่องนี้เท่าไร

ด้าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และในฐานะโฆษกดีเอสไอ เผยว่า ภายหลังจากที่รับเอกสารของผู้ร้องแล้วก็จะนำเข้าสู่ขั้นตอนการประมวลเรื่องโดยกองบริหารคดีพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดก่อนนำเสนอไปยังอธิบดีดีเอสไอ เนื่องจากเรื่องที่ผู้ร้องนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีฮั้ว สว. ที่ดีเอสไออยู่ระหว่างดำเนินการ แต่เป็นประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเงินค่าสมัครสมาชิกวุฒิสภา 2,500 บาท ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเงินจำนวนดังกล่าวถูกนำเข้าเป็นรายได้แผ่นดินหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ก็จะต้องดูพยานเอกสารที่ผู้ร้องได้ส่งแนบมาประกอบการพิจารณาต่อไป.