ที่ศาลากลาง จ.เชียงราย กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อใน จ.เชียงราย มีนายนเรศ รัศมีจันทร์ ผู้แทนกลุ่มฯ ได้พากันไปรวมกลุ่มเพื่อขอยื่นหนังสือต่อนายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เพื่อขอให้ส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรี, รมว.พาณิชย์, รมว.เกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยด่วน โดยนายนเรศและกลุ่มผู้เลี้ยงโคระบุว่าในปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในหลายพื้นที่ทั่วประเทศกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปิดเสรีการค้าหรือ FTA ระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้า เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ ทำให้มีการนำเข้าเนื้อโคและเครื่องในสู่ประเทศไทยในราคาต่ำ ส่งผลกระทบต่อราคาโคเนื้อในประเทศอย่างชัดเจน ทำให้เกษตรกรไทยประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องนำไปสู่การเลิกอาชีพในภาคเกษตรอย่างกว้างขวาง
ดังนั้นกลุ่มฯ จึงขอเสนอให้รัฐบาลปฏิรูประบบการผลิตและตลาดโคเนื้อของไทยภายใต้ชื่อ Thai Beef Model ที่เกิดจากการคิดค้นของภาคเกษตรกรและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการเกษตรโดยมีเนื้อหาหลักๆ คือ ให้มีการจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อกำกับ ดูแล และพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้อไทย, พัฒนาระบบฐานข้อมูลโคเนื้อแห่งชาติ, ยกระดับฟาร์มและโรงเชือดเข้าสู่มาตรฐานสากล, สนับสนุนการผลิตเนื้อคุณภาพ, และสร้างความเข้มแข็งของระบบตลาดทั้งภายในและการส่งออก ซึ่งทางผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้รับเรื่องไว้พร้อมรับจะนำส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำชับให้ติดตามความคืบหน้าให้กับเกษตรกรด้วย ทำให้กลุ่มฯ แยกย้ายกันกลับ

นายนเรศ กล่าวว่า ในช่วง 3-4 ปีมานี้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในประเทศไทยที่มีกว่า 1.4 ล้านครัวเรือนต้องประสบกับปัญหาอย่างหนัก จากการที่มีเนื้อจากต่างประเทศโดยเฉพาะออสเตรเลียซึ่งทำคุณภาพได้ดีและหลากหลายเข้ามาตีตลาดในประเทศไทย ดังนั้นในวันเดียวกันนี้กลุ่มฯ จากทั้ง 25 จังหวัดทั่วประเทศก็พากันไปยื่นข้อเสนอเดียวกันต่อแต่ละจังหวัดด้วยคือขอให้ใช้ Thai Beef Model เพราะมั่นใจว่าถ้ารัฐบาลผลักดันในเรื่องนี้จะทำให้การเลี้ยงโคเนื้อทั่วประเทศฟื้นตัวได้ทั่วประเทศ หลังจากที่ในปัจจุบันเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อด้วยต้นทุนกิโลกรัมละ 80-90 บาท แต่ปรากฏว่าพ่อค้าไปรับซื้อกิโลกรัมละเพียง 70 บาท
นายนเรศ กล่าวอีกว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าเรื่องราคาคือคุณภาพ เพราะสินค้าจากออสเตรเลียมีความหลากหลาย มีคุณภาพดี มีการเลี้ยงให้โคเนื้อน้ำหนักขึ้นวันละ 1.8-2 กิโลกรัม ขณะที่ของไทยในภาพรวมหากสามารถทำได้วันละ 1 กิโลกรัมก็ถือว่าดีมากแล้ว เป็นต้น สิ่งสำคัญอีกประการคือเกษตรกรไทยจะต้องได้รับการพัฒนาจนสามารถป้อนสินค้าไปสู่ตลาดได้อย่างเพียงพอและหลากหลายด้วยบรรจุภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ก็ต่อเมื่อมีการพัฒนาตามรูปแบบ Thai Beef Model ดังกล่าวนั่นเอง