“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า วันนี้ (13 พ.ค. 2568) สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง(ทล.) จัดการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 1) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) สายชลบุรี – หนองคาย หรือ M61 ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง) – ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359) ตอน 2 ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 โดยนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ แผนการศึกษา และขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ นำไปพิจารณาประกอบการศึกษาโครงการให้มีความเหมาะสมต่อประชาชนมากที่สุด

โครงการM61 มีความสำคัญเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้รองรับการคมนาคมและการขนส่งสินค้าเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) รวมถึงสปป.ลาว มีจุดเริ่มต้นบริเวณท่าเทียบเรือน้ำลึกแหลมฉบังมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่าน จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และสิ้นสุดที่จ.หนองคายบริเวณด่านพรมแดนไทย-ลาว ทล.ได้ออกแบบรายละเอียดโครงการตอน 1 ช่วงบริเวณท่าเทียบเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ถึง จุดตัดทล. 3340 ต. ธาตุทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี ระยะทาง 64 กม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการฯตอนที่ 2 เพื่อความต่อเนื่องของโครงข่าย วงเงินรวม 172 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ระยะทางรวม 61 กม.

“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานด้วยว่า โครงการส่วนที่ 1 ระยะทาง 32 กม. วงเงิน 92ล้านบาท มีแนวเส้นทางจากจุดตัดทล. 3340 ต. ธาตุทอง อ. บ่อทอง -ทางแยกต่างระดับสนามชัยเขต ต. ลาดกระทิง อ. สนามชัยเขต มีกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท บุญปัญญา เทคโนโลยี จำกัด บริษัท อินฟราทรานส์ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท แมคโครคอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด

โครงการส่วนที่ 2 ระยะทาง 29 กม. วงเงิน 80 ล้านบาท แนวเส้นทางเริ่มจากทางแยกต่างระดับสนามชัยเขต ต. ลาดกระทิง อ. สนามชัยเขต ถึงต่างระดับศรีมหาโพธิ บริเวณจุดตัดทล.359 ต.ศรีมหาโพธิ อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี มีกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัดบริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท วิสิทธิ์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด บริษัท เอ็นทิค จำกัด บริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ระยะเวลาศึกษารวม 450 วัน เริ่มศึกษาวันที่ 4 มี.ค. 2568 – 27 พ.ค. 2569

พื้นที่ศึกษาโครงการฯ ครอบคลุม 3 จังหวัด 6 อำเภอ 11 ตำบล ได้แก่ จ.ชลบุรี อ.บ่อทอง ต.วัดสุวรรณ ต.ธาตุทอง/ อ.เกาะจันทร์ ต.เกาะจันทร์ จ.ฉะเชิงเทรา อ.แปลงยาว ต.หนองไม้แท่น/อ.สนามชัยเขต ต.ลาดกระทิง ต.คู้ยายหมี ต.ท่ากระดาน ต.ทุ่งพระยา /อ.พนมสารคาม ต.เขาหินซ้อน จ.ปราจีนบุรี อ.ศรีมหาโพธิ ต.หนองโพรง ต.ศรีมหาโพธิ มีแนวคิดเบื้องต้นออกแบบถนนพื้นราบขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.60 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 3.00 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.00 เมตร มีเกาะกลางแบบร่อง (Depressed Median) บนเขตทางปกติ 70 เมตร

ช่วงชุมชนจะพิจารณาเพิ่มทางบริการตามความจำเป็นของพื้นที่ ข้างละ 2 ช่องจราจร กว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร แบบวิ่งสวนทาง มีเขตทางสำหรับทางบริการกว้าง 15 เมตร กรณีมีทางบริการทั้งสองด้านจะใช้เขตทางรวมกว้าง 100 เมตร กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจะนำเสนอรูปแบบการพัฒนาโครงการ และรูปแบบทางแยกต่างระดับในการประชุมครั้งต่อไป

สำหรับM61ชลบุรี-หนองคาย ระยะทางรวมประมาณ 614 กม แบ่งเป็น 3 ระยะ (เฟส) เฟสแรกชลบุรี(ท่าเรือแหลมฉบังปราจีนบุรี(ทล.359) ระยะทาง 125 กม. เฟส2ปราจีนบุรี -นครราชสีมา ระยะทาง 178 กม. เฟส3 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง ประมาณ 300กม. กรมทางหลวงมีแผนลงทุนก่อสร้างเฟสแรกประมาณ ปี2571 -2572 เปิดบริการปี 2574-2576