เมื่อวันที่ 13 พ.ค.นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้ออกมาให้ความรู้ด้านสุขภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยได้โพสต์ข้อความแบ่งปันประสบการณ์ตรงถึง 10 ข้อ “ยาแรงแบบเถื่อนๆ” ที่ตนเองเคยปฏิบัติเพื่อเอาชนะโรคเบาหวาน พร้อมคำแนะนำสำคัญสำหรับผู้ที่กำลังใช้ยาหรือมีโรคประจำตัวให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนนำไปปฏิบัติตาม
นายแพทย์เจษฎ์ระบุว่า ในช่วงที่ตนเองปฏิบัติตามแนวทางเหล่านี้ บางข้อก็ทำได้ง่าย บางข้อก็ท้าทาย แต่ด้วยความตั้งใจจริงและไม่ได้ใช้ยาใดๆ ควบคู่กันไป จึงประสบผลสำเร็จ พร้อมทั้งฝากถึงผู้ที่อ่านให้ใส่ใจดูแลสุขภาพของคนที่รักด้วย
สำหรับ 10 ข้อ “ยาแรงแบบเถื่อนๆ” ที่หมอเจดแนะนำ มีดังนี้:
- เลิกน้ำหวานทุกชนิด: ไม่ว่าจะเป็นน้ำผลไม้ น้ำเต้าหู้ ชาใส่นม กาแฟใส่ไซรัป หรือน้ำอัดลมที่มีสี ให้งดโดยเด็ดขาด หากต้องการดื่ม ให้เลือกน้ำเปล่า โซดา ชาใส กาแฟดำ หรือเครื่องดื่มที่ไม่มีรสชาติ
- หลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรต: แม้บางคนจะมองว่าเป็นอาหารที่จำเป็น แต่สำหรับผู้ที่ต้องการหายจากเบาหวานด้วยวิธี “ยาแรง” นี้ ควรงดเว้นคาร์โบไฮเดรตทั้งหมด เพื่อไม่ให้อินซูลินต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากภาวะเบาหวานคือการดื้ออินซูลิน
- เน้นโปรตีนและไขมัน: ในช่วงที่ต้องการหายจากเบาหวาน หมอเจดเน้นการบริโภคโปรตีนและไขมันเป็นหลัก โดยแทบจะไม่ทานผักและตัดผลไม้ออกเกือบทั้งหมด เนื้อวัวย่าง ปลาแซลมอนย่าง และไข่ ถือเป็นอาหารหลักที่ทำให้อิ่มและได้รับสารอาหารเพียงพอ
- ปรุงอาหารเอง: หากสามารถทำอาหารเองได้ จะดีที่สุด เนื่องจากอาหารที่ซื้อจากภายนอกมักมีส่วนผสมของผงชูรส ผงนัว ซอสหอยนางรม หรือเครื่องปรุงรสอื่นๆ หากทำเอง สามารถควบคุมส่วนผสม โดยใช้เพียงเกลือและพริกไทย
- กินโปรตีนให้ถึง: สำหรับผู้ที่ไม่มีโรคไต ควรบริโภคโปรตีนประมาณ 1.5 – 2 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เช่น ทานเนื้อประมาณครึ่งกิโลกรัมต่อวัน หากหิวในเวลากลางคืน สามารถทานไข่ต้มหรือไข่ออนเซ็น
- ทำ IF (Intermittent Fasting): การทำ IF ช่วยให้เบต้าเซลล์ในตับอ่อน ซึ่งเป็นตัวผลิตอินซูลิน ได้พักฟื้น หากร่างกายยังต้องผลิตอินซูลินบ่อยๆ ตับอ่อนจะไม่มีโอกาสได้พักและฟื้นตัว การทำ IF จึงมีผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน แต่ต้องระวังหากทานยาลดน้ำตาล ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- เพิ่ม NEAT (Non-Exercise Activity Thermogenesis): คือการออกกำลังกายแบบไม่ออกกำลัง เช่น เดินขึ้นบันไดบ่อยๆ ยืนแทนการนั่งขณะแต่งหน้า เดินไปทำงานแทนการใช้ลิฟต์หรือรถยนต์ ท่าที่แนะนำคือการยืนเขย่งเท้า ซึ่งช่วยเปิดประตูรับน้ำตาลมากขึ้น โดยเฉพาะหลังมื้ออาหารที่มีน้ำตาล
- เสริมสร้างกล้ามเนื้อ: การมีกล้ามเนื้อมากขึ้นเปรียบเสมือนการมีเตาเผาขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งช่วยในการเผาผลาญน้ำตาล การเสริมสร้างกล้ามเนื้อสามารถทำได้ในทุกวัย เช่น การลุกนั่ง หรือดูคลิปการเพิ่มกล้ามเนื้อขาสำหรับผู้สูงอายุ
- นอนหลับให้เพียงพอ: ฮอร์โมนที่หลั่งขณะนอนหลับ (Growth Hormone) มีความสำคัญในการสลายไขมันในช่องท้องและตับ แต่ฮอร์โมนนี้จะไม่หลั่งหากยังมีอินซูลินค้างอยู่ ดังนั้น ควรงดอาหารเย็นก่อน 6 โมงเย็น และนอนเร็วขึ้น
- จัดการความเครียด: ความเครียดจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หิวมากขึ้น และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ดังนั้น ควรหาวิธีจัดการความเครียด เช่น การฟังเพลง หรือการคิดในเชิงบวก
ท้ายที่สุด หมอเจดได้ย้ำว่า ทุกข้อแนะนำมาจากประสบการณ์ตรงของตนเอง ซึ่งเคยเผชิญกับภาวะเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ไขมันพอกตับ กรดไหลย้อน นอนกรนรุนแรง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตนเอง พร้อมทั้งเตือนทุกคนให้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ