ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมเพชรพระจอมเกล้า โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี นายกฤษฎา บุญราช ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เพื่อสำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน พร้อมด้วย นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นางณัฐฐินีย์ คงบูชาเกียรติ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบุรี นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยะศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ นายแพทย์พิเชษฐ พัวพันกิจเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ส่วนราชการ เหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบุรี สถานีกาชาดที่ 8 จังหวัดเพชรบุรี ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมจำนวนมาก

นายกฤษฎา บุญราช ผู้ช่วยเลขาธิการ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่คัดกรองประชาชนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสันในจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดสมุทรปราการ และงานชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12 จังหวัดชลบุรี เห็นว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน จึงส่งผลให้มีการจัดกิจกรรมโครงการฯ ดังกล่าว ที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน จะสามารถเข้าถึงการคัดกรองโรคพาร์กินสันโดยใช้แอปพลิเคชัน Check PD ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ในการค้นหาผู้ป่วย และส่งต่อเข้ารับการรักษาในระบบสาธารณสุขได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับสภากาชาดไทย โดยสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เห็นถึงความสำคัญและริเริ่มโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ขึ้น เพื่อสำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทยทรงมีพระเมตตาและทรงห่วงใยพสกนิกรในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาทที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว.