บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 โดยยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรตามกลยุทธ์ ‘Energy Symphonics’ เพื่อเป็นผู้นำด้านพลังงานที่เปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรม แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนและความขัดแย้งด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา บ้านปูได้ขยายการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาดในหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ในสหรัฐอเมริกา การเริ่มต้นก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งใหม่ในจีน การรุกตลาดโซลาร์รูฟท็อปในเวียดนาม และการลงทุนเพิ่มเติมในระบบกักเก็บพลังงานในญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันธุรกิจไปสู่เป้าหมาย Net-Zero และเสริมสร้างความยั่งยืนในระยะยาว

‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในไตรมาสที่ผ่านมา บ้านปูเดินหน้าตามแผนของกลยุทธ์ Energy Symphonics อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากความคืบหน้าของทุกกลุ่มธุรกิจที่มุ่งสร้างกระแสเงินสดและตอบโจทย์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ความไม่แน่นอนของตลาดโลกจะส่งแรงกดดันต่อธุรกิจพลังงาน แต่ด้วยการบริหารธุรกิจด้วยความยืดหยุ่นทั่วทั้งองค์กร ทำให้เราสามารถประเมินสถานการณ์และปรับแผนตามสภาวะต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ประกอบกับการที่เรามีฐานธุรกิจในประเทศสำคัญในเอเชีย-แปซิฟิกและสหรัฐอเมริกา ทำให้มีข้อได้เปรียบในการเชื่อมโยงโอกาสจากตลาดแต่ละพื้นที่ บริหารความเสี่ยงได้ตรงจุด ควบคุมต้นทุนได้รัดกุม เป้าหมายคือรักษากระแสเงินสดและสร้างความมั่นคงทางการเงินอย่างต่อเนื่อง”

สำหรับผลการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจหลักในไตรมาสแรกของปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวเชิงกลยุทธ์ภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน บ้านปูยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาประสิทธิภาพการดำเนินงานในธุรกิจเหมือง โดยเน้นการควบคุมต้นทุนอย่างเข้มงวด แม้ว่าราคาขายและปริมาณการจำหน่ายจะปรับลดลงตามความต้องการถ่านหินที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเหมืองในมองโกเลียประสบความสำเร็จในการส่งออกถ่านหินไปยังประเทศจีนเป็นครั้งแรกในไตรมาสนี้ ปริมาณ 0.3 ล้านตัน สำหรับ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัทมุ่งเน้นการบริหารความเสี่ยงด้านราคาผ่านเครื่องมือทางการเงิน ควบคู่ไปกับการควบคุมประสิทธิภาพการผลิตอย่างรัดกุม ที่สำคัญคือ BKV dCarbon Ventures ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปู ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ CI Energy Transition Fund I ภายใต้การบริหารของ Copenhagen Infrastructure Partners (CIP) จากเดนมาร์ก เพื่อร่วมกันออกแบบ พัฒนา และดำเนินธุรกิจ CCUS ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับบ้านปูในตลาดพลังงานสะอาดระดับโลก

สำหรับกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน บริษัทเร่งเดินหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งใหม่ “Jinhu Qianfeng” ในมณฑลเจียงซู ประเทศจีน ซึ่งมีกำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนธันวาคม 2568 ในขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในประเทศจีนยังสามารถสร้างผลกำไรจากการขาย Carbon Emission Allowance (CEA) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีประสิทธิภาพ และการตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าและไอน้ำในช่วงฤดูกาลสำคัญ

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน บ้านปูมุ่งมั่นต่อยอดสู่โซลูชันพลังงานแห่งอนาคต โดย Banpu Japan K.K. ได้ลงนามร่วมพัฒนาโครงการระบบกักเก็บพลังงาน ‘Kamigumi–Tokyo BESS‘ ขนาด 8 เมกะวัตต์ชั่วโมง ร่วมกับ Kamigumi Co., Ltd. ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2571 นอกจากนี้ ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้ายังได้พัฒนาเทคโนโลยีวิเคราะห์การซื้อขายพลังงานด้วยระบบ AI ร่วมกับแพลตฟอร์มชั้นนำอย่าง Enspired และ Global Engineering เพื่อเสริมศักยภาพในการแข่งขันในระยะยาว ในประเทศเวียดนาม บ้านปู เน็กซ์ และ SolarBK ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อขยายธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป โดยมีเป้าหมายไปยังกลุ่มโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม และศูนย์ข้อมูล (Data Center)

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือ การเปิดตัวบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ภายใต้ชื่อ ‘PrimeMobility’ เพื่อให้บริการเช่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) เชิงพาณิชย์แบบครบวงจร โดยร่วมกับพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ Marubeni และ Fuyo Lease Group ซึ่งเป็นการตอกย้ำการขยายธุรกิจของบ้านปูเข้าสู่ภาคขนส่งพลังงานสะอาด

ในด้านผลประกอบการของไตรมาสแรกปี 2568 บ้านปูมีรายได้จากการขายรวมกว่า 1,284 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 43,584 ล้านบาท) และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 268 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9,100 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 14.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 483 ล้านบาท) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ถือเป็นการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงในเชิงกระแสเงินสด

ทั้งนี้ บ้านปูยืนยันที่จะเดินหน้าต่อยอดการดำเนินธุรกิจในทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งบริหารจัดการพอร์ตพลังงานที่หลากหลายด้วยความยืดหยุ่น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต โดยยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานสะอาด ที่มีความมั่นคง และยั่งยืนในระดับโลก