จากคำเปรียบเปรยที่ว่าเมื่อหิ่งห้อยไปอยู่ที่ใด ตรงนั้นย่อมมีแสงสว่างเกิดขึ้น แม้หิ่งห้อยหนึ่งตัวอาจให้แสงสว่างได้เพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นร้อยตัว พันตัวรวมกันย่อมสร้างแสงสว่างที่ยิ่งใหญ่ได้ CKPower จึงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะนำองค์ความรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนมาต่อยอดเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมผ่านโครงการหิ่งห้อย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาแสงสว่างและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน” นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกิจกรรมเพื่อสังคมหลักของ “CKPower” อย่าง “โครงการหิ่งห้อย” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เมื่อผู้บริหารและพนักงาน CKPower มีเป้าหมายร่วมกันที่ต้องการนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมพลังงานไฟฟ้ามาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชนและสังคม โดยจากวันนั้นถึงวันนี้ โครงการหิ่งห้อยได้เดินทางจนก้าวสู่ปีที่ 8 แล้ว

ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางขับเคลื่อนและแผนการดำเนินงานของ “โครงการหิ่งห้อย ปีที่ 8” บริษัทยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะสานต่อโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนการทำงานผ่านแนวคิด “จุดประกายการเรียนรู้ เปิดประตูสู่ความยั่งยืน” ภายใต้ กรอบดำเนินงานสร้างคุณค่าสู่สังคม (CSR Strategy Framework 2565-2569) เพื่อมุ่งเน้นการส่งต่อองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมการผลิตไฟฟ้าและความสามารถในด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสร้างคุณค่าให้ชุมชนและสังคม ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อการอนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรอบดำเนินงานสร้างคุณค่าสู่สังคม หรือ CSR Strategy Framework 2565-2569 ดังกล่าว จะครอบคลุมทั้งมิติสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 เสาหลัก ดังนี้ 1. หิ่งห้อยพลังงานหมุนเวียนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มุ่งเน้นการเข้าถึงและเพิ่มความรู้เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน 2. หิ่งห้อยเพื่อการอนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้และขยายพื้นที่อนุรักษ์เพื่อปกป้องฟื้นฟูทรัพยากรป่า 3. หิ่งห้อยนวัตกรรมสร้างโอกาสเพื่อชุมชน มุ่งต่อยอดนวัตกรรมสู่การพัฒนาอาชีพผ่านโครงการ One Power Plant One Product (OPOP) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนควบคู่กับการสร้างอาชีพและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าและสังคมไกล ทั้งในประเทศไทย และในพื้นที่ สปป.ลาว ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนให้เด็กและเยาวชน ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่ออนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ ที่สอดคล้องกับแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

ขณะที่ผลลัพธ์การดำเนินงานโครงการหิ่งห้อยปีที่ 8 นั้น นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะส่งผลให้เกิดผลกระทบเชิงบวกขึ้นมากมายต่อชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ทั้งในประเทศไทย และ สปป.ลาว ตลอดจนพื้นที่สังคมไกล ที่โครงการเข้าไปสนับสนุน อาทิ “โครงการส่งมอบอาคารห้องสมุดใหม่ในรูปแบบอาคารประหยัดพลังงาน” ให้กับ ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่มุใน บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) อุปถัมภ์ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากพนักงานจิตอาสา CKPower กว่า 250 คน ที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ โดยทั้งหมดได้ช่วยกันออกแบบและจัดสร้างอาคารห้องสมุดหลังใหม่ให้สามารถเปิดรับแสงจากธรรมชาติได้เพิ่มขึ้น กับออกแบบให้ภายในอาคารมีอากาศถ่ายเทได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้ลดการใช้ไฟฟ้าในอาคารลงไปได้อย่างมาก นอกจากการออกแบบและจัดสร้างอาคารห้องสมุดหลังใหม่ และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์ เพื่อให้เด็กและคุณครูเกิดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกด้วย ท่ามกลางรอยยิ้มและเสียงหัวเราะและรอยยิ้มของทุกคนที่ร่วมกิจกรรมนี้ และด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชุมชนและสังคมที่ยั่งยืน ส่งผลทำให้ โครงการหิ่งห้อย ปีที่ 8 สามารถคว้ารางวัลระดับเอเชีย AREA Awards 2024 (Asia Responsible Enterprise Awards) สาขา Social Empowerment จาก Enterprise Asia องค์กรพัฒนาเอกชนชั้นนำที่ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบในเอเชียต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับองค์กรตัวอย่างที่โดดเด่นเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม

และด้วยการดำเนินงานผ่านแนวคิด “จุดประกายการเรียนรู้ เปิดประตูสู่ความยั่งยืน” ภายใต้ กรอบดำเนินงานสร้างคุณค่าสู่สังคม (CSR Strategy Framework 2565-2569) ที่มีกลยุทธ์ “เติมต่อร่วมสร้าง” เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนั้น ส่งผลให้ตลอดระยะเวลา 8 ปี “โครงการหิ่งห้อย” ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่าง ๆ ขึ้นมากมาย อาทิ ช่วยให้ชุมชนเพิ่มการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนสะสม 100,330 วัตต์, เพิ่มความรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนให้แก่ครูผู้นำและเยาวชนสะสม 9,513 คน, เพิ่มความรู้สู่การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้สะสม 4,377 คน เป็นต้น โดยการดำเนินงานต่าง ๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ “กลยุทธ์ C-K-P ซึ่งถือเป็น Core value ของบริษัท ที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในระดับชุมชน ได้แก่ C (Clean Electricity) การขยายการเข้าถึงพลังงานสะอาด, K (Kind Neighbor) การดูแลชุมชนรอบโรงไฟฟ้าด้วยความรับผิดชอบ, P (Partnership for Life) การร่วมมือกับเครือข่ายภาคีเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในระยะยาว ทั้งในไทย และ สปป.ลาว

สำหรับก้าวต่อไปของ “โครงการหิ่งห้อย” นั้น บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสานต่อโครงการต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายภายในปี 2569 ตามกรอบการสร้างคุณค่าสู่สังคม ร่วมกับทุก ๆ โรงไฟฟ้าในเครือ ทั้งในประเทศไทย และ สปป.ลาว เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชุมชนและสังคม เพื่อร่วมกันมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป.