ในสถานการณ์เช่นนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ถูกยกเป็นหนึ่งใน “เครื่องยนต์สำคัญ” ที่จะช่วยพลิกฟื้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้า ประสบการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่สามารถเติบโตได้สูงกว่าไทยในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำบทบาทของเอฟดีไอ ในฐานะกลยุทธ์การเติบโตทางด้านการลงทุน (Investment-led Growth) อย่างไรก็ตามไทยยังคงมีกระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ เฉลี่ยต่อปีที่ต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระบุว่า กนอ.ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีภารกิจในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมผ่านการจัดตั้งและพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ได้แสดงความพร้อมที่จะเป็น “คนพายเรือที่แข็งแรง” และเป็น “Bright Spot” ของเศรษฐกิจไทย ด้วยการประกาศยุทธศาสตร์ “I-EA-T 2025: HOPE” ที่มุ่งหวังสร้าง “ความหวัง” ให้กับเศรษฐกิจไทย ผ่านการเร่งรัดให้เกิดการลงทุนจริง โดยหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ HOPE อยู่ที่การเปลี่ยนผ่านจากการเติบโตแบบเดิมไปสู่การเติบโตที่เน้นคุณค่าสูงและความยั่งยืน:

High value-added Investment: ไม่ใช่แค่ดึงดูดเงินลงทุน แต่เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและเทคโนโลยีขั้นสูง (Future Investment หรือ High-Tech FDI) กนอ. จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านดิจิทัล คมนาคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับทักษะแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ โดยตั้งเป้าดึงดูด FDI ประเภทนี้ให้ได้ไม่น้อยกว่า 350,000 ล้านบาทต่อปี

Operational Efficiency: ปฏิรูปกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เสนอสิทธิประโยชน์พิเศษแก่การลงทุนที่ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างงานทักษะสูง กนอ. มุ่งมั่นให้บริการแบบ “กนอ. ทำถึง” เพื่อให้นักลงทุนดำเนินธุรกิจได้ง่ายและสะดวกขึ้น

Proactive Marketing: สร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย ผ่านการทำการตลาดเชิงรุก นำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศที่มีอนาคตที่สดใสและยั่งยืน โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจ และพันธมิตรระหว่างประเทศ

Engine of Sustainability: ผลักดันให้นิคมอุตสาหกรรมเป็นต้นแบบด้านความยั่งยืน เน้นการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Greenfield Projects ในเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม) สร้าง “นิคมฯ พลังงานสะอาด” ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และแสวงหาแหล่งพลังงานสะอาดต้นทุนต่ำมารองรับการใช้งานเทคโนโลยี เช่น AI นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนา “เศรษฐกิจติดนิคม” เพื่อดูแลชุมชนรอบข้าง
“ผมเชื่อว่า ยุทธศาสตร์ HOPE จะสะท้อนความตั้งใจจริงของ กนอ. ที่จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวข้ามความท้าทาย ดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพ สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนได้”.