พบว่า แม้ธุรกิจไทยส่วนใหญ่เริ่มนำเทคโนโลยี AI มาใช้ แต่กลับมีถึง 82% ที่ยังไม่ได้พิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังจากการใช้โซลูชันดังกล่าวโดยผลการศึกษาชี้ว่า

       แม้ 32% ของบริษัทไทยมีการเพิ่มเป้าหมายและดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี แต่มีเพียง 18% เท่านั้นที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ และผลักดันเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในระดับองค์กร

       ขณะเดียวกัน ธุรกิจไทยเกือบครึ่งหรือ 48% ได้นำ AI มาใช้ในการติดตามการปล่อยมลพิษ ทว่าองค์กรจำนวนมากยังขาดความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบของ AI ต่อสิ่งแวดล้อมในภาพรวม

      “กิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์” กรรมการผู้จัดการ คินดริล ประเทศไทย ระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญบนเส้นทางสู่ความยั่งยืน โดยองค์กรไทยควรเร่งยกระดับการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี ไม่เพียงเพื่อตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน และสร้างการทำงานร่วมกันข้ามแผนก เพื่อให้ความยั่งยืนกลายเป็นเป้าหมายร่วมในองค์กรอย่างแท้จริง

      ทั้งนี้ ผลการศึกษาระบุถึงปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรไทยขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ได้แก่

        การจัดลำดับความสำคัญของความยั่งยืนในระดับองค์กร โดยเฉพาะบทบาทของฝ่ายกฎหมาย ความเสี่ยง จัดซื้อ และปฏิบัติการ ที่จะเป็นกลไกหลักในการกำหนดทิศทางและเป้าหมาย

        การใช้เทคโนโลยี เช่น AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในกระบวนการดำเนินงานและห่วงโซ่อุปทาน ซึ่ง 52% ของธุรกิจไทยเริ่มดำเนินการแล้ว และอีก 47% ใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิผล

        การตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้ AI ต่อสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรควรให้ความสำคัญกับการวัดผลกระทบจากเทคโนโลยีเหล่านี้ และวางแนวทางการใช้งานอย่างรับผิดชอบ

        การบูรณาการข้อมูลภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลเดียวกันแบบเรียลไทม์ ซึ่งยังเป็นความท้าทายสำคัญของ 40% ขององค์กรไทย

       ด้านแมทธิว เซคอลผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนระดับโลกจากไมโครซอฟท์ กล่าวว่า การบูรณาการข้อมูลความยั่งยืนเข้ากับข้อมูลด้านการดำเนินงานและการเงิน พร้อมการใช้ AI และการวิเคราะห์ขั้นสูง จะช่วยให้องค์กรเพิ่มประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน

       นอกจากนี้ คินดริลและไมโครซอฟท์ยังเสนอแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถวัดปริมาณการปล่อยมลพิษจากโครงสร้างพื้นฐาน ปรับแต่งสถาปัตยกรรม AI ให้เหมาะสม และใช้โมเดล AI/ML ที่ช่วยลดการใช้พลังงานและของเสีย พร้อมทำงานร่วมกับองค์กรทั่วโลกเพื่อให้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นพลังขับเคลื่อนที่สนับสนุนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม

      “อูลริช เลิฟเฟลอร์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Ecosystm กล่าวเสริมว่า องค์กรในอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ กำลังจัดให้ความยั่งยืนเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่ง AI กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการช่วยลดของเสีย เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ทิศทางนี้จะส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศความร่วมมือระดับภูมิภาค และนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนและเท่าเทียมมากขึ้นในระยะยาว.