เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผวจ.พระนครศรีอยุธยา เป็นประธานบรรยายพิเศษให้กับนักเรียน ครู ที่เข้าร่วมโครงการ Ayutthaya Smart Law Camp โดยมีนางสาวลัดดาวรรณ หลวงอาจ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาฬสินธุ์ ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด เป็นประธานเปิดโครงการ และนางนลินี ด่านชัยวิจิตร ประธานผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รายงานวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการฯ ซึ่งได้รับเกียรติจาก คณะผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกิจกรรม ทั้งนี้ ได้คัดเลือกเยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 จากทุกโรงเรียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วมโครงการ 40 คน

สำหรับการจัดโครงการ Ayutthaya Smart Law Camp ขึ้นในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม มีความเข้าใจในกระบวนการยุติธรรมและภารกิจของศาลยุติธรรม โดยเฉพาะศาลเยาวชนและครอบครัว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้และค้นหาศักยภาพของตนเอง นำไปสู่การประกอบวิชาชีพด้านกฎหมายต่อไป อีกทั้งยังนำความรู้ แนวคิดและประสบการณ์ที่ได้รับ ไปเผยแพร่ในสถานศึกษาของตนเอง ชุมชนและสังคม สร้างการตระหนักรู้ในคุณค่าและพัฒนางานศาลเยาวชนและครอบครัว โดยคัดเลือกเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 จากทุกโรงเรียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 40 คน นอกจากนี้ จะมีการดูงานที่ศาลฎีกา และดูงานการพิจารณาคดีที่ศาลอาญาแล้ว ยังมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายการศึกษาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และได้รับการสนับสนุนจากทีมงานวิทยากรท่านสุริยัณห์ หงษ์วิไล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา และคณะ

นางสาวลัดดาวรรณ หลวงอาจ กล่าวว่า ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการยุติธรรม ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อชี้ขาดตัดสินคดีและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ความสำคัญแก่การปฏิบัติภารกิจของศาลเยาวชนและครอบครัวอย่างสูงสุด โดยมีการดำเนินกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุถึงเจตนารมณ์ของการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงเห็นควรทำงานในเชิงรุก ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เยาวชนในเรื่องกระบวนการยุติธรรม การปลูกฝังระบบความคิด การสร้างความเข้าใจ ตลอดจนการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนในท้องถิ่น ซึ่งมีความสนใจในด้านกฎหมาย ผ่านกระบวนการค้นหาตนเอง การเรียนรู้ร่วมกัน และการเรียนรู้จากสถานที่และประสบการณ์จริงในลักษณะการเสริมหลักสูตรในทางวิชาการ ที่ไม่มีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา

