เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 30 พ.ค. ที่พรรคไทยสร้างไทย นายทิวากร สุระชน รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชาบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่ช่องบก อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ทับซ้อนที่ยังไม่มีการปักปันเขตแดนอย่างเป็นทางการ ว่า โดยพรรคเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความเปราะบางของโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และตอกย้ำถึงความจำเป็นที่รัฐบาลไทยต้องมีแนวทางการบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

นายทิวากร กล่าวอีกว่า พรรคไทยสร้างไทย เรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการเชิงรุกทั้งในมิติความมั่นคงและการทูต เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุปะทะซ้ำอีกในอนาคต พรรคเห็นด้วยกับแนวทางการลดความตึงเครียดและยับยั้งการเผชิญหน้าทางทหาร แต่ขอย้ำว่ารัฐบาลไม่ควรใช้เพียงมาตรการทางทหารเพื่อควบคุมสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น หากแต่ต้องกลับมาเดินหน้าในการเจรจาทางการทูตอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการฟื้นฟูการทำงานของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ซึ่งควรประชุมอย่างสม่ำเสมอ

นายทิวากร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการเจรจาดังกล่าวต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวังและต้องสามารถทานเล่ห์เหลี่ยมทางการทูตจากฝ่ายกัมพูชาได้ด้วย เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา แม้จะมีการพูดคุยและตกลงในแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน แต่บ่อยครั้งกลับไม่เป็นไปตามที่ได้ตกลงไว้ ซึ่งอาจบั่นทอนความไว้วางใจและยืดเยื้อความขัดแย้งต่อไป พรรคเน้นย้ำว่า ความมั่นคงบริเวณชายแดนไม่ควรถูกปล่อยให้เป็นภาระของกองกำลังทหารเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายการเมือง และประชาชนในพื้นที่ชายแดน การมีส่วนร่วมของประชาชนและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างเปิดเผยระหว่างสองประเทศจะช่วยลดโอกาสเกิดความเข้าใจผิดและยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองชาติ

นายทิวากร กล่าวอีกว่า ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ยังเปราะบาง พรรคไทยสร้างไทยขอให้รัฐบาลไทยเปิดเผยข้อมูลกับประชาชนอย่างรอบด้าน และสนับสนุนการทำงานของสื่อมวลชนในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือนหรือกระแสชาตินิยมสุดโต่งที่อาจกระทบต่อความสงบในระยะยาว พรรคไทยสร้างไทยขอยืนยันว่า การรักษาอธิปไตยของชาติไทยต้องควบคู่กับการธำรงสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค การเผชิญหน้าทางทหารไม่อาจเป็นคำตอบของปัญหาที่ยืดเยื้อเช่นนี้ หนทางที่ถูกต้องคือการกลับสู่โต๊ะเจรจา ใช้หลักสันติวิธี กฎหมายระหว่างประเทศ และความเข้าใจร่วมกันเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน