หากไม่มีอะไรสะดุด! ตามไทม์ไลน์ วันที่ 29 มิ.ย. นี้ ประเทศไทยจะมีการจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อใช้ในกิจการโทรคมนาคม หรือ โทรศัพท์มือถือ อีกครั้งหนึ่ง
หลังจากที่ สำนักงาน กสทช. ได้เปิดให้มีการยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz เมื่อ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีเอกชนที่เป็น “เจ้าเก่า หน้าเดิม” 2 ราย คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด มายื่นเอกสารเข้าร่วมประมูล
โดยขั้นตอนจากนี้จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาตจะระหว่างวันที่ 30 พ.ค.–5 มิ.ย. ก่อนเสนอผลต่อคณะกรรมการ กสทช. เพื่อพิจารณาและแจ้งผลในช่วงวันที่ 6–13 มิ.ย. โดยอุทธรณ์ผลการพิจารณาได้ในวันที่ 16, 17 และ 18 มิ.ย. จากนั้น กสทช. จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติในวันที่ 19 มิ.ย. พร้อมจัดการประมูลจำลอง (Mock Auction) เพื่อเตรียมความพร้อมในวันที่ 23 มิ.ย. ก่อนเข้าสู่การประมูลจริงในวันที่ 29 มิ.ย.ดังกล่าว

ทั้งนี้ในการประมูลคลื่นความถี่ในวันที่ 29 มิ.ย. นี้ ทาง สำนักงาน กสทช. ได้แบ่งคลื่นความถี่ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. คลื่นความถี่ย่านต่ำ (Low Band) ได้แก่ คลื่นความถี่ ย่าน 850 MHz 2.คลื่นความถี่ย่านกลาง (Mid Band) ได้แก่ คลื่นความถี่ ย่าน 2100 MHz 2300 MHz เป็นคลื่นความถี่ย่านที่มีการใช้งานสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน และ 3. คลื่นความถี่ย่านกลาง (Mid Band) ย่าน 1500 MHz ซึ่งไม่มีการใช้งานสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน
สำหรับราคาขั้นต่ำเริ่มประมูลที่กำหนดไว้แบ่งเป็น คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz ช่วงความถี่วิทยุ 824 – 834 MHz คู่กับ 869 – 879 MHz มีราคาขั้นต่ำต่อชุดเป็นจำนวนเงิน 7,738.23 ล้านบาท จำนวน 2 ชุด ชุดละ 2 x 5 MHz
ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ช่วงความถี่วิทยุ 1965 – 1980 MHz คู่กับ 2155 – 2170 MHz มีราคาขั้นต่ำต่อชุดเป็นจำนวนเงิน 4,500 ล้านบาท จำนวน 3 ชุด ชุดละ 2 x 5 MHz
และย่าน 2300 MHz ช่วงความถี่วิทยุ 2300 – 2370 MHz มีราคาขั้นต่ำต่อชุดเป็นจำนวนเงิน 2,596.15 ล้านบาท จำนวน 7 ชุด ชุดละ 10 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 1500 MHz ช่วงความถี่วิทยุ 1452 – 1507 MHz มีราคาขั้นต่ำต่อชุดเป็นจำนวนเงิน 1,057.49 ล้านบาท จำนวน 11 ชุด ชุดละ 5 MHz

อย่างไรก็ตาม อย่างที่เกริ่นไว้ว่า หากไม่สะดุด กระบวนการต่างๆ จะดำเนินการไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามกันต่อก่อนจะถึงวันประมูลก็คือ ทาง สภาผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค และชมรมสันติประชาธรรม ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยให้เหตุผลประกาศที่จัดให้มีการประมูลคลื่นครั้งนี้ อาจขัดต่อหลักกฎหมาย ทั้งในด้านขั้นตอน วิธีการ และเงื่อนไขการประมูล ที่ไม่สะท้อนสภาพตลาดและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ทางสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุเหตุผลว่า การฟ้องร้องในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศของ กสทช. และให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ ให้เอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม เปิดทางให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด และมีกลไกควบคุมคุณภาพบริการหลังประมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม
โดยสภาพตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยขณะนี้เหลือผู้ประกอบการหลักเพียง 2 รายใหญ่คือ เอไอเอส และ ทรู ทำให้การแข่งขันลดลงอย่างมาก แต่ประกาศของ กสทช. กลับไม่มีมาตรการที่เพียงพอในการรองรับความเสี่ยงจากโครงสร้างตลาดที่ผูกขาด เช่น ไม่กำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดก่อนการประมูลเพื่อควบคุมราคาค่าบริการในอนาคต ไม่มีการกำหนดเพดานราคาค่าบริการในกรณีที่ผู้ชนะการประมูลมีอำนาจเหนือตลาด หรือไม่กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องเสนอแผนคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน ซึ่งปัจจุบัน ทรู และ ดีแทค ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 97.29% โดยไม่มีคู่แข่งรายใดสามารถแข่งขันได้

สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือ เรื่องราคาตั้งต้นประมูลที่ต่ำไป ทางองค์กรผู้บริโภคมองว่า สำนักงาน กสทช. กำหนดราคาคลื่น 2100 MHz มีราคาขั้นต่ำเพียง 4,500 ล้านบาทต่อ 15 ปี หากประมูลหมดทั้ง 3 ชุด รัฐจะมีรายได้เพียง 13,500 ล้านบาท ขณะที่ NT เคยปล่อยเช่าในอัตราปีละ 3,900 ล้านบาท หากครบ 15 ปี จะสร้างรายได้ถึง 58,500 ล้านบาท
ส่วนคลื่น 2300 MHz กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ที่ 2,596.15 ล้านบาทต่อ 15 ปี หากประมูลหมดทั้ง 6 ชุด จะนำรายได้เข้ารัฐเพียง 15,576 ล้านบาท ขณะที่ NT เคยปล่อยเช่าคลื่นนี้ปีละ 4,510 ล้านบาท หากรวม 15 ปี จะมีรายได้ถึง 67,650 ล้านบาท ซึ่งสภาผู้บริโภค ชี้ว่าการตั้งราคาประมูลต่ำขนาดนี้ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของรัฐ และอาจทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับผลประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลง เช่น ค่าบริการที่ควรถูกลงแต่ไม่มีการบังคับหรือกลไกควบคุม
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางสภาผู้บริโภคมองว่า หากปล่อยให้การประมูลดำเนินต่อไปโดยไม่มีการแก้ไข อาจสร้างความเสียหายต่อรัฐและผู้บริโภคในระยะยาว จึงต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ

อย่างไรก็ตาม ในมุมของ สำนักงาน กสทช. โดยแหล่งข่าว จาก กสทช. บอกว่า “สำนักงาน กสทช. ก็ต้องทำตามหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ ส่วนสภาผู้บริโภคฟ้องศาลปกครอง ก็เป็นการทำตามหน้าที่ และสิทธิที่ทำได้ แต่ทั้งหมดคงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลจะว่าอย่างไร หากไม่มีคำสั่งคุ้มครอง กระบวนการจัดการประมูลก็จะดำเนินไปตามแผนที่กำหนดไว้”
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าตลาดโทรคมนาคมไทยในปัจจุบันไม่เอื้อกับการให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามา เพราะไม่สามารถแข่งขันกับ 2 รายใหญ่ได้ หากต้องมาเริ่มนับหนึ่งในการลงทุนขยายเครือข่าย ในขณะที่เจ้าเดิมมีความพร้อมมากกว่า
จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่า หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง “กสทช.” จะมีวิธีการอย่างไรไม่ให้เกิดการผูกขาด จนกระทบผู้บริโภคไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือต้องจ่ายแพงขึ้นในอนาคต!?!
จิราวัฒน์ จารุพันธ์