เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีฉ้อโกงโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ พร้อม พล.ต.ต.มนตรี เทศขันธ์ ผบก.ป. พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป. ร่วมกันสรุปสำนวนคดี พร้อมนำตัวกลุ่มผู้ต้องหาที่ร่วมกันทุจริตเบิกเงินในโครงการดังกล่าว จำนวน 136 คน จาก 2 สำนวนคดีในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ จ.ภูเก็ต และ จ.ชัยภูมิ ส่งให้กับอัยการสำนักคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร พิจารณาตามกฎหมาย

แฉกลโกง’เราเที่ยวด้วยกัน’ ใช้สิทธิ์เกินจริง-ไร้ตรวจสอบ

โดยคดีอาญาที่ 1/2564 ของ กก.3 บก.ป. คดีระหว่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้กล่าวหา กับ น.ส.ปัญชญา ศรีวรรณภูมิ กับพวก 116 คน พฤติการณ์คือโรงแรมณัฐชญา รีสอร์ท จ.ชัยภูมิ มีห้องพักจำนวน 10 ห้อง ราคาห้องละ 400 บาท เจ้าของโรงแรมซึ่งสมัครเข้าร่วมโครงการกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้รับแอพพลิเคชั่นถุงเงิน จากนั้นได้ร่วมกับร้านค้าที่สมัครเข้าร่วมโครงการและได้รับแอพฯถุงเงิน จำนวน 86 ราย ทุจริตหลอกลวงเอาเงินงบประมาณของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยไปโดยทุจริต โดยมีผู้รวบรวมซื้อสิทธิ์ 29 คน กว้านซื้อสิทธิประชาชนในราคา 500-1,500 บาท นำสิทธิ์ของประชาชนมาสมัครเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อเปิดใช้แอพฯเป๋าตัง

หลังจากนั้นได้นำรหัสของประชาชนที่ได้รับเข้าร่วมโครงการไปเช็กอินเข้าพักโรงแรม แต่ไม่ได้มีการเข้าพักจริงตามเงื่อนไข ทำให้รัฐหลงเชื่อโอนเงิน 40% ของราคาห้องพัก จำนวน 160 บาท ให้กับโรงแรมณัฐชญา รีสอร์ท หลังจากนั้นผู้ต้องหาได้นำรหัสไปสแกนใช้ E voucher ซึ่งเป็นคูปองส่วนลดค่าอาหารและบริการ ที่รัฐสนับสนุนให้ 40% ที่ร้านอาหาร ร้านค้า ที่ร่วมทุจริต โดยไม่ได้ใช้สิทธิจริง ทำให้รัฐเสียหายรายละ 9,000 บาท ในช่วงวันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี หรือ 6,000 บาท ในวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ นอกจากนี้ โรงแรมณัฐชญา รีสอร์ท ยังได้ขยายปริมาณใช้สิทธิห้องพักสูงถึงวันละ 3,500 ห้อง จากที่มีเพียง 10 ห้องเท่านั้น มูลค่าความเสียหาย 77,402,175 บาท

อีกคดีอาญาที่ 3/2564 ของ กก.5 บก.ป. คดีระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้กล่าวหา กับ บริษัท ธารา ป่าตอง จำกัด กับพวกรวม 20 คน พฤติการณ์ทางคดี โรงแรมธาราป่าตอง มีห้องพักราคาปกติ 1,700-2,000 บาท ได้สมัครเข้าร่วมโครงการกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับร้านค้าที่สมัครเข้าร่วมโครงการมีแอพถุงเงิน 4 ราย หลอกเอาเงินงบประมาณของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยการปรับราคาห้องพักเป็น 7,500 บาท เพื่อจะได้รับส่วนลด 40% ของราคาห้องพักจำนวน 3,000 บาท โดยมีผู้รวบรวมซื้อสิทธิ 13 คน กว้านซื้อสิทธิประชาชนในราคา 500-1,500 บาท นำมาสมัครเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อเปิดใช้แอพเป๋าตัง

หลังจากนั้นได้นำรหัสของประชาชนที่ได้รับเข้าร่วมโครงการไปเช็กอินเข้าพักโรงแรม แต่ไม่ได้มีการเข้าพักจริงตามเงื่อนไข ทำให้รัฐหลงเชื่อโอนเงิน 40% ของราคาห้องพัก 3,000 บาท หากมีการทุจริต 10 สิทธิ ต่อ 1 คน รัฐจะเสียหาย 30,000 บาท ต่อคน หลังจากนั้นหลังจากนั้นผู้ต้องหาได้นำรหัสไปสแกนใช้ E voucher ซึ่งเป็นคูปองส่วนลดค่าอาหารและบริการ ที่รัฐสนับสนุนให้ 40% ที่ร้านอาหาร ร้านค้า ที่ร่วมทุจริต โดยไม่ได้ใช้สิทธิจริง ทำให้รัฐเสียหายรายละ 9,000 บาท ในช่วงวันจันทร์ ถึง พฤหัสบดี หรือ 6,000 บาท ในวันศุกร์ ถึง วันอาทิตย์ มูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 20,994,980 บาท

ทั้ง 2 คดี แจ้งข้อหาเอาผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกง ,ร่วมกันพยายามฉ้อโกง, ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, ร่วมกันพยายามฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, ร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอกนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนเพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ด้าน พล.ต.ท.ชยพล กล่าวว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกัน มีผู้เกี่ยวข้อง 3 ส่วน เจ้าของโรงแรม ร้านค้าที่ร่วมโครงการ และภาคประชาชน แต่มีคนบางกลุ่มมีแนวคิดที่ไม่ถูกต้องไป ไปใช้วิธีฉ้อฉล โรงแรม ร้านค้า มีแอพถุงเงิน ส่วนภาคประชาชนมีแอพเป๋าตังค์ ก็มีบางคนไปเอาสำเนาบัตรประชาชน มาเปิดใช้สิทธิ และเอาเงินเล็กน้อยจ่ายค่าตอบแทนให้ บางรายได้เพียงหลักร้อยแต่ถูกดำเนินคดี ส่วนเงินที่เหลือไปเข้ากระเป๋าโรงแรม ร้านค้า ยืนยันว่าจะดำเนินคดีทุกรายอย่างเด็ดขาด และฝากเตือนพี่น้องประชาชนคิดให้ดี รัฐกระต้นเศรษฐกิจไปแล้ว เรามีสิทธิก็ใช้ตามปกติ แต่หากไปใช้ในทางที่ผิดก็จะถูกดำเนินคดี

ขณะที่ พ.ต.อ.เอนก กล่าวขยายความวิธีนำบัตรประชาชนมาเปิดใช้สิทธิ์ว่า จะมีผู้รวบรวมสิทธิไปเอาเลขบัตรประชาชน จากนั้นเข้าระบบสมัครใช้สิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันตามปกติ โดยที่เจ้าของบัตรไม่ได้มีการไปพักโรงแรม ใช้จ่ายตามร้านค้าที่ร่วมโครงการจริง คดีนี้รัฐเป็นผู้เสียหาย ผู้ต้องหานับร้อยรายเป็นเจ้าของโรงแรม ร้านค้า ผู้รวบรวมสิทธิ

นอกจากที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.ภูเก็ต ในคดีทุจริตโครงการเราเที่ยวด้วยกันมีการร้องทุกข์ดำเนินคดีกับโรงแรม ร้านค้า 1 พันกว่าคดี ความเสียหายประมาณ 2 พันกว่าล้าน ฝากเตือนพี่น้องประชาชน ได้รับผลตอบแทนไม่มาก อาจต้องถูกดำเนินคดีสถานหนัก ส่วนในเฟส 3 ทาง ททท. มีการแจ้งเบาะแสการทุจริตเข้ามาแล้ว แต่ยังไม่มีการเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์.