คิม กวาง-โฮ วิศวกรชาวเกาหลี ได้รับค่าตอบแทนจากโครงการผู้แจ้งเบาะแสของหน่วยงานควบคุมความปลอดภัยยานยนต์ของสหรัฐ จากการส่งข่าวเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถยนต์จากบริษัทฮุนได มอเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทนายจ้างของเขามา 26 ปี

เมื่อสิ้นสุดการพิสูจน์ความจริงอย่างแสนสาหัสเป็นเวลา 5 ปี รางวัลจากสำนักงานบริหารความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ก็ทำให้คิมมีฐานะร่ำรวยขึ้นกว่า 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (785.4 ล้านบาท) และเขาตั้งเป้าที่จะจัดตั้งมูลนิธิเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่มีความรับผิดชอบ

“ค่าตอบแทนที่ผมคาดว่าจะได้จากโครงการผู้แจ้งเบาะแสในสหรัฐอเมริกานั้น มีมูลค่ามากกว่าการเสียสละที่ผมต้องทำที่เกาหลีใต้” คิมในวัย 59 ปี ซึ่งเคยทำงานในทีมกลยุทธ์คุณภาพของบริษัทกล่าวกับรอยเตอร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

การกระทำของคิมนำไปสู่ข้อตกลงเมื่อปีที่แล้วจากฮุนไดและเกีย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ขายดี 10 อันดับแรกของโลก ที่จะต้องจ่ายค่าปรับทางแพ่งเป็นประวัติการณ์ถึง 210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6871.3 ล้านบาท) จากการเรียกคืนรถยนต์เกือบ 1.7 ล้านคัน

คิม ซึ่งวางแผนที่จะสร้างช่องยูทูบเพื่อสอนวิธีเปิดเผยพฤติกรรมที่ไม่ดีของนายจ้าง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายของสหรัฐ ผ่านการฝึกอบรมที่ฮุนไดจัดให้ และเป็นแรงบันดาลใจให้เขาก้าวออกมาให้ข้อมูลซึ่งเป็นผลเสียต่อบริษัท

“(จำนวนเงิน) ไม่ได้ไม่น่าเหลือเชื่อหรืออะไรทำนองนั้น ผมว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสม” คิมกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ในห้องนั่งเล่นที่บ้านของเขาในเมืองยงอิน ทางใต้ของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

“มันเป็นจำนวนที่เหมาะสมเมื่อคุณพิจารณาสิ่งที่ผมต้องเสียสละ ว่าผมต้องทุ่มเทกับมันมากแค่ไหน” คิมกล่าวว่าการกระทำของเขาทำให้เขาต้องตกงาน และตัดสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่คบกันมายาวนาน

“หลังจากที่ผมรายงานไป ผมเชื่อว่าบรรดาผู้ผลิตรถยนต์รู้ดีว่าทุกคนสามารถออกมาแฉข้อมูลนี้ได้และพวกเขาไม่สามารถปิดบังอะไรได้เลย”

ทางฮุนไดมอเตอร์กรุ๊ปไม่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

บริษัทกฎหมาย คอนสแตนติน แคนนอน ซึ่งเป็นตัวแทนของคิม กล่าวว่า รางวัลที่คิมได้รับเมื่อวันอังคารเป็นรางวัลแรกโดยหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐ และเป็นรางวัลที่ใหญ่ที่สุดในคดีผู้แจ้งเบาะแสในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก เป็นผลมาจากกฎหมายและโครงการรับแจ้งเบาะแสในภาคยานยนต์ที่ผ่านรัฐสภาในปี 2558 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะช่วยควบคุมอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยให้รางวัลแก่ผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดความปลอดภัย ผู้แจ้งเบาะแสที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริงจะได้รับส่วนแบ่งตั้งแต่ 10-30% ของค่าปรับหรือค่าปรับทั้งหมดที่รวบรวมได้

จำนวนเงินรางวัลของคิมนั้น หน่วยงานกำกับดูแลเป็นคนกำหนดซึ่งก็คือ 30% ของการชำระเงินค่าปรับล่วงหน้าจำนวน 81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,561 ล้านบาท) ที่ฮุนไดและเกียตกลงจะจ่าย

“ผมโล่งใจที่ได้ยินว่าในที่สุดก็ถึงจุดจบ” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าเขาและสำนักงานกฎหมายกำลังตรวจสอบว่าเขายังจะได้รับเงินเพิ่มเติมหรือไม่

ในฤดูร้อนปี 2559 คิมแจ้งแก่หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐว่าฮุนไดไม่ได้ดำเนินการที่จะแก้ไขข้อบกพร่องของเครื่องยนต์ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการชน โดยอ้างรายงานภายในจากทีมกลยุทธ์ที่ส่งถึงผู้บริหาร

การเรียกคืนรถยนต์ระหว่างปี 2558-2560 ได้รับการจัดอันดับให้เป็นการเรียกคืนสินค้าครั้งใหญ่ที่สุดของบริษัทในสหรัฐอเมริกา

การสอบสวนโดยหน่วยงานกำกับดูแลเริ่มขึ้นในปี 2560 และจบลงที่การตัดสินว่าบริษัทล้มเหลวในการเรียกคืนรถยนต์ในเวลาที่เหมาะสม ส่งผลให้ปีที่แล้วต้องเสียค่าปรับ 210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6871.3 ล้านบาท) และในปีถัดมา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าอัยการสหรัฐกำลังตรวจสอบว่าการเรียกคืนรถของฮุนไดนั้นถูกต้องหรือไม่

อย่างไรก็ตาม คิมยังรู้สึกว่าความพยายามของเขาไม่ประสบความสำเร็จเต็มร้อย

“บรรดาผู้ที่พยายามปกปิดการเรียกคืนในขณะนั้นยังคงทำงานเป็นผู้บริหารที่บริษัทในเครือของฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป ซึ่งผมคิดว่ามันคือความจริงที่เจ็บปวด แม้ว่าผมจะออกมาแฉข้อมูลเพื่อแก้ไขสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จ” เขากล่าว

เครดิตภาพ : Reuters