นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบกำลังส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงในเชิงระบบต่อธุรกิจประกันวินาศภัย หลังจากสถิติผู้ติดเชื้อและการจ่ายเคลมประกันภัยมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30,000% และคาดว่าจะมียอดจ่ายเคลมในสิ้นปีนี้สูงถึง 40,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัยที่มีการขายประกันโควิด 16 แห่งผลกระทบ 30% และบางบริษัทอาจถูกกระทบถึง 60-70%   

“สถิติ ณ วันที่ 15 พ.ย.64 มีการค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดแล้ว 37,000 ล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของบริษัทที่รับประกันภัยโดยรวมอยู่ที่ 132,000 ล้านบาท และด้วยสถานการณ์การระบาดที่ยังคงรวมถึงความเป็นไปได้ในการเกิดการระบาดระลอกใหม่ อาจทำให้ค่าสินไหมทดแทนสะสม ณ สิ้นปี 64 จะเพิ่มถึง 40,000 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินกองทุนทั้งหมด และอาจเพิ่มสูงถึง 60-70% ของเงินกองทุนหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันวินาศภัยหลายบริษัทอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ นอกจากนี้ ยังมียอดติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ติดเชื้อโควิด ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ 2.8% ของประชากร แต่ผู้ติดเชื้อของผู้ที่มีประกันภัยโควิดสูงถึง 3.8%”

นายอานนท์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการขอใช้สิทธิการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดซึ่งถือเป็นหลักสากลที่ทำได้ โดยเฉพาะกรณีที่เป็นภัยพิบัติใหม่ หลังพบแนวโน้มผู้ติดเชื้อปีนี้เพิ่มขึ้น 29,600% ขณะที่ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 33,100% อีกทั้งถือเป็นเงื่อนไขมาตรฐานในกรมธรรม์ประกันภัยโควิด ซึ่งเงื่อนไขการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ. ตั้งแต่แรกแล้ว

อย่างไรก็ตาม ต่อมา คปภ.ได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกโดยบริษัทประกันภัย ซึ่งในความเห็นของ คปภ. นั้น คำสั่งนี้มีผลบังคับตามกฎหมาย โดยมีผลบังคับย้อนหลังไปถึงกรมธรรม์ที่ได้ออกไปแล้วก่อนหน้าวันที่มีคำสั่งประกาศใช้ ขณะที่ความเห็นจากกลุ่มบริษัทที่รับประกันภัยโควิดมีความเห็นแตกต่าง เพราะมองว่าตามหลักกฎหมายทั่วไป กฎหมายย่อมไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ยกเว้นกฎหมายที่เป็นคุณกับผู้ถูกบังคับ และยังมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้รับประกันภัยต่ออีกด้วย

นายอานนท์กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้หารือกับ คปภ. หาทางออกมาเกือบ 1 เดือน และได้มีการกำหนดเกณฑ์ร่วมกันหากจำเป็นต้องมีการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยเจอจ่ายจบ ดังนี้ ความเสียหายจากการรับประกันภัย ตั้งแต่ 400% ขึ้นไป หรือมีค่าสินไหมทดแทนจากการรับประกันภัย ตั้งแต่ 4,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีค่าสินไหมทดแทนจากการรับประกันภัย เกินกว่า 10% ของเงินกองทุน และยังมีมาตรการเยียวยาอีกด้วย

“แต่ปกติเงินที่บริษัทประกันภัยใช้ประกอบธุรกิจ มาจากเบี้ยประกันภัยทุกประเภทซึ่งให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยกว่า 70 ล้านกรมธรรม์ หากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด ส่งผลให้บริษัทประกันภัยต้องมีการปิดกิจการเพิ่มอีก ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยในวงกว้าง และกองทุนประกันวินาศภัยคงไม่สามารถรับภาระในการชดเชยค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดได้”

อย่างไรก็ตาม หากฐานะการเงินของบริษัทประกันภัยใดไม่สามารถรองรับความเสี่ยงได้อีกในอนาคต และจำเป็นต้องบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดขอเรียนให้ทราบว่า บริษัทประกันภัยเหล่านั้นไม่ได้มีเจตนาในการเอาเปรียบหรือทอดทิ้งผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด แต่เป็นความจำเป็นและเป็นการบริหารความเสี่ยงที่พึงกระทำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบกับผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบหากบริษัทต้องปิดกิจการเพิ่มอีกในอนาคต