นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยในงานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย บรรยาย เรื่อง ภาวะหนี้ครัวเรือนปัจจุบัน : มุมมองจากเครดิตบูโร ว่า หนี้ครัวเรือนไทยตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ได้รายงานมี 14.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3% ต่อจีดีพี แต่ถ้าดูตามนิยามของเครดิตบูโรหนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) คือค้างจ่ายเกิน 90 วันนับรวมทั้งหมดไม่ว่าจะสำรองหนี้เต็ม และยังไม่ขายออกไปจากธนาคาร เอ็นพีแอลสูง 8.1% หรือ 9.7 แสนล้านบาท

สุรพล โอภาสเสถียร

ทั้งนี้สิ่งที่น่ากังวลคือ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารทั้งรัฐและเอกชน จะหมดลงช่วงกลางปี 65 ทำให้หากไม่มีมาตรการพิเศษมารองรับ มีเพียงแต่การปรับโครงสร้างหนี้ตามแนวทางปกติซึ่งมีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือ 8.5 แสนล้านบาท จะทำให้หนี้เอ็นพีแอลหลังจากเดือน มิ.ย.65 ตกชั้นเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านบาท เหมือนกับช่วงที่มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เป็นการทั่วไป มาเป็นแบบสมัครใจไม่ได้ช่วยทุกราย ส่งผลให้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานั้น เช่นเดียวกับไตรมาส 3 ปีนี้เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า เริ่มเห็นเอ็นพีแอลขยับขึ้น 7.7% และกลุ่มค้างชำระ 1-3 งวดใกล้เป็นเอ็นพีแอลเพิ่ม 2.5% รวมกันแล้วมีมากถึง 10%

“ความน่ากลัวคือภูเขาหนี้ เพราะประเภทที่ว่ากู้ก่อนผ่อนทีหลัง กินก่อนผ่อนทีหลัง เที่ยวก่อนผ่อนทีหลัง จ่ายก่อนผ่อนทีหลัง โดยเฉพาะคนอายุ 35 ปีมีหนี้บ้าน บัตร รถ สินเชื่อบุคคลครบ 4 ประเภท มีหนี้ 100 บาท เป็นหนี้เสียแล้ว 7 บาท, คนอายุ 60 ปี มีหนี้ 100 บาทเป็นหนี้เสีย 7.7 บาท หรือคนอายุ 31 ปี มี 20% หรือ 1 ใน 5 เป็นหนี้เสียแล้ว เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะเป็นช่วงอายุที่มีกำลังขับเคลื่อนประเทศ ถ้าคนกลุ่มนี้ติดกับดักหนี้จะเป็นปัญหาต่อไป”

นายสุรพล กล่าวว่า ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีเอ็นพีแอล 4.1% และค้างชำระหนี้ 1-3 งวดอีก 1.6% ของมูลหนี้ 4.5 ล้านล้าน โดยมีเจนเอกซ์และเจนวายรวมกันที่มีปัญหาเรื่องหนี้เกือบ 2 แสนบัญชี ถ้านำมาเข้ามาตรการรวมหนี้ ก็ต้องดูว่าลูกหนี้มีพื้นที่ของวงเงินกู้หรือไม่ เพราะหากดูหนี้บ้านไม่เกิน 3 ล้านบาทมีผ่อนอยู่ 1.5 ล้านคน ตกต่อเดือน 12,000 บาทจะมีวงเงินโยกจากฝั่งซ้ายคือหนี้บัตรมาฝั่งขวาคือหนี้บ้านได้แค่ไหน