เมื่อวันที่ 30 พ.ย. รายงานข่าวแจ้งว่า บรรยากาศในที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ …พ.ศ. ในวันนี้ (30 ธ.ค.) มีพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ฐานะรองประธานกมธ.วิสามัญฯ ทำหน้าที่ประธานประชุม ซึ่งเดิมมีวาระสำคัญคือพิจารณารับรองรายงานของคณะอนุ กมธ.ศึกษารูปแบบแต่งตั้งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มีพล.ต.อ.ชัชวาลย์ เป็นประธาน แต่จำต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากที่ประชุมมีการถกเถียงกันอย่างมาก

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ส.ว. ฐานะกมธ.วิสามัญฯ ซึ่งร่วมเป็นอนุกมธ.ฯด้วย เสนอให้ดึงกลับไปพิจารณาเพิ่มเติม อ้างว่า จำเป็นต้องกลับไปแก้ไขอีกหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่บัญญัติไว้ในร่างเดิมที่ผ่านหลักการวาระ 1 จากรัฐสภาให้นายกฯร่วมเป็นก.ตร. หากมีการแก้ไขให้นายกฯไปอยู่ในส่วนของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ชุดเดียวเท่านั้น ก็ต้องมีการแก้ไขมาตราอื่นให้สอดรับกันด้วย และมีหลายมาตราที่ต้องใช้เวลาพิจารณา

โดยพล.ต.อ.ชัชวาลย์ ก็เห็นควรให้เลื่อนออกไปเช่นกัน เพราะมีหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง แต่ก็มีกรรมาธิการหลายคนแสดงความเห็นคัดค้าน และเสนอให้พิจารณาวันนี้เลย ทำให้เกิดข้อถกเถียงในที่ประชุม จนพล.ต.อ.ชัชวาลย์ ต้องสั่งพักการประชุม หลังจากเปิดการประชุมอีกครั้งที่ประชุมได้พิจารณาถึงเหตุผลแล้วได้เห็นควรให้เลื่อนการพิจารณารับรายงานของอนุกมธ.ฯออกไปโดยไม่มีกำหนด

แหล่งข่าวในกมธ.วิสามัญฯ เปิดเผยว่า แม้พล.ต.อ.ชัชวาลย์ และพล.ต.ท.อำนวย ออกมายืนยันว่าไม่มีความพยายามตั้งรัฐอิสระตำรวจก็ตาม แต่การที่แก้ไขให้นายกฯอยู่ในก.ต.ช. เท่านั้นโดยไม่ได้ร่วมเป็นก.ตร.ตามร่างกฎหมายเดิม ก็แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่ามีเจตนาอย่างไร เพราะปัญหาใหญ่ที่สุดในวงการตำรวจที่ผ่านมาล้วนมาจากการแต่งตั้งโยกย้าย จนนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูป แม้จะให้อำนาจนายกฯแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ก็ตาม แต่ยังมีหมกเม็ด โดยการตั้งอนุกมธ.ฯพิจารณาหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจขึ้นมาอีก 1 ชุด โดยมีพล.ต.อ.ชัชวาลย์ นั่งเป็นประธานเช่นกัน โดยชุดนี้จะถือเป็นหัวใจสำคัญสุดเพราะมีกระแสว่ามีความพยายามปรับหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อกันอำนาจนายกฯออกไปได้อย่างเบ็ดเสร็จ

“กรรมาธิการฝ่ายตำรวจพยายามวาดภาพให้สังคมเชื่อว่า ต้องกันฝ่ายการเมืองออกไปไม่ให้แทรกแซง แต่ในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ที่ฝ่ายบริหารจะไม่สามารถเข้ามา และทราบมาว่า มีความพยายามดังกล่าวถึงขั้นจะให้นายกฯมีหน้าที่เพียงนำรายชื่อคนที่จะนั่ง ผบ.ตร. จากที่ก.ตร. เสนอมานำขึ้นทูลเกล้าฯเท่านั้น เรื่องนี้ยังคงต้องว่ากันอีกยาว เพราะการพิจารณากฎหมายไม่มีกำหนดเรื่องเวลา ทั้งหมดเป็นความพยายามที่จะรักษาอำนาจของนายตำรวจบางกลุ่มเท่านั้น” แหล่งข่าวระบุ.