สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ว่า โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของ ประเทศขนาดเล็กขาดแคลนผืนดิน ที่จะบรรลุเป้าหมาย เพิ่มการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 4 เท่า ภายในปี พ.ศ. 2568 เพื่อช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

โซลาร์ฟาร์มแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ในเขื่อนกักเก็บน้ำเต็งเงห์ ทางฟากตะวันตกของสิงคโปร์ และมีกำลังผลิตไฟฟ้า 60 เมกะวัตต์พีค สร้างและเป็นเจ้าของทั้งหมด โดยบริษัทในเครือของเซมบ์คอร์ป อินดัสตรีส์ (Sembcorp Industries)

แถลงการณ์ร่วมของเซมบ์คอร์ป อินดัสตรีส์ และสำนักงานการประปาแห่งชาติสิงคโปร์ PUB ระบุว่า โรงงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แห่งนี้ สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ได้ปีละประมาณ 32 กิโลตัน หรือเท่ากับนำรถยนต์ราว 7,000 คันออกจากถนน

ข้อมูลจากแบบที่เสนอในโครงการ แผงโซลาร์ลอยน้ำ มีประสิทธิภาพมากกว่าแผงแบบโซลาร์ รูฟท็อป ทั่วไป ราว 5-15% เนื่องจากได้รับความเย็นจากน้ำ และไม่ได้รับผลกระทบจากเงาของอาคารที่อยู่ใกล้เคียง

กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงรับแสงอาทิตย์ 122,000 แผง รวมเนื้อที่ 45 เฮกตาร์ (274.5 ไร่) จะทำให้สิงคโปร์เป็นหนึ่งในเพียงไม่กี่ประเทศของโลก ที่ระบบบำบัดน้ำเสีย ใช้พลังงานยั่งยืนทั้งหมด โซลาร์ฟาร์มแห่งนี้ถูกออกแบบเพื่อใช้งานนาน 25 ปี โดยการซ่อมบำรุงจะใช้โดรนช่วย

ปัจจุบันสิงคโปร์มีโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ที่อื่นๆ อีก 4 แห่ง.

เครดิตภาพ – REUTERS
เครดิตคลิป – TODAYonline