เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า หลังเที่ยงคืนของวันที่ 3 ม.ค.65 ตั้งแต่เวลา 02.00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 4 ม.ค. จะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกควอดรานติดส์” ศูนย์กลางการกระจายอยู่ระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส (Hercules) กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Boötes) และกลุ่มดาวมังกร (Draco) เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นศูนย์กลางจะค่อย ๆ เคลื่อนมากลางฟ้า ปีนี้คาดมีอัตราการตกสูงสุด 120 ดวงต่อชั่วโมง และมีอัตราการตกมากที่สุดเวลาประมาณ 03.40 น. ประกอบกับคืนดังกล่าวไม่มีแสงจันทร์รบกวน จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง แนะนำเลือกสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า ไม่จำเป็นต้องชมผ่านกล้องโทรทรรศน์

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ฝนดาวตกควอดรานติดส์ เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 28 ธ.ค. – 12 ม.ค. ของทุกปี เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่ตัดเข้ากับสายธารเศษอนุภาคที่ดาวเคราะห์น้อย 2003 อีเอช1 (2003 EH1) เหลือทิ้งไว้ขณะเดินทางผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในทุก ๆ 5.5 ปี เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า (Fireball) ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือ เป็นดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุด ๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ สำหรับฝนดาวตกควอดรานติดส์ ตั้งชื่อตามกลุ่มดาวควอดแดรนส์ มูราลิส (Quadrans Muralis) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากลุ่มดาวเครื่องมือเดินเรือ ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่เคยมีในแผนที่ดาวในช่วงศตวรรษที่ 19 (ปัจจุบันได้ถูกยกเลิกไปแล้ว) อยู่ระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มดาวมังกร