นายณรงค์ชัย วิสูตรชัย ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสรัฐกิจสัมพันธ์ และกิจการสาธารณะ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า จีพีเอสซี ได้เดินหน้าโครงการ Light for a Better Life ซึ่งเป็นโครงการสำคัญของจีพีเอสซี  ที่ใช้ความเชี่ยวชาญของบริษัทฯ และพนักงาน ในการดูแลความมั่นคงทางไฟฟ้าให้กับชุมชน สังคม ด้วยการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับพื้นที่ต่างๆ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน

ทั้งนี้ ล่าสุดได้ร่วมกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาขนาด 30 กิโลวัตต์ เป็นแผงโซล่าเซลล์ชนิด Monocrystalline จำนวน 66 แผง และอินเวอร์เตอร์ที่มีระบบ Optimizer สามารถตรวจเช็คการผลิตของแผงโซล่าร์เซลล์แต่ละแผงผ่านแอพลิเคชั่นได้ตลอดเวลา เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยฯ เบื้องต้นคาดว่าประมาณ 175,000 บาทต่อปี  เพื่อนำค่าใช้จ่ายที่ลดลงไปต่อยอดช่วยสนับสนุนโครงการเกษตรฯ สำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนต่อไป

“โครงการนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ Light for a Better Life ภายใต้หลักการ  4 ข้อ คือ 1. Safety สร้างความปลอดภัยจากการใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน ด้วยการปรับปรุงซ่อมแซมระบบไฟฟ้า เพื่อลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน 2. Saving Energy & Environment  ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการใช้ไฟฟ้าด้วยการใช้พลังงานทดแทน และรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าแบบประหยัดพลังงาน เช่นหลอดไฟแอลอีดี แสงสว่างจากพลังงานแสงอาทิตย์ 3. Security & Reliability ติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานทดแทนในพื้นที่ขาดแคลนไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน สังคมให้มีความเท่าถึงและเท่าเทียม  และ 4. Social Enterprise พัฒนารูปแบบการส่งมอบพลังงานทดแทนให้กลายเป็นโครงการที่มีรายรับ จากไฟฟ้าที่ผลิตได้ และแปรเปลี่ยนเป็นการพัฒนาในพื้นที่โดยรอบโครงการ สร้างความรู้ สร้างอาชีพ ให้เกิดความยั่งยืน”

นอกจากนี้ โครงการนี้ยังมีความพิเศษ จีพีเอสซี ยังได้สนับสนุนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำนวัตกรรมของนักวิจัยไทย เคลือบพื้นผิวแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อช่วยลดภาระในการทำความสะอาด และบำรุงรักษา เนื่องจากสารเคลือบนาโนนี้ ช่วยสะท้อนน้ำ กันฝุ่น รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรับพลังงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งโครงการนี้จะเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อทดลองการใช้สารเคลือบดังกล่าวมีประสิทธิภาพอย่างไร โดยจะทดลองระหว่าง แผงโซลาร์ที่ใช้สารเคลือบนาโนฯ และไม่ได้ใช้ ประสิทธิภาพของแผงโซลาร์ต่างกันอย่างไรบ้าง

นายธันยากร เมืองนาโพธิ์ นักวิจัยทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน สวทช. ขยายความว่า จีพีเอสซี สนับสนุนโครงการนี้ โดยสารเคลือบนาโนที่นำมาใช้สำหรับแผงโซลาร์เซลล์ มีประสิทธิภาพช่วยให้ฝุ่นเกาะน้อยที่สุด  ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของแผงโซลาร์ฯ จากปกติหากทิ้งแผงโซลาร์ไว้ประมาณ 2 เดือน ฝุ่นจะเริ่มเกาะประสิทธิภาพจะลดลงประมาณ 6-8% หรือบางสถานที่ที่มีฝุ่นเยอะ เช่น โรงงาน ประสิทธิภาพจะลดลงไป 9-10%  

อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบประสิทธิภาพ กับแผงโซลาร์ฯ ที่ไม่ได้ใช้สารเคลือบนาโน แผงที่เคลือบจะมีประสิทธิภาพผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มประมาณ 5-10% ไม่มีสารเคมีเป็นอันตรายต่ออุปกรณ์ หรือกระทบกับสิ่งแวดล้อม ต้นทุนต่อแผงราคาไม่สูงประมาณ 5 -20 บาทต่อแผง ซึ่งราคานี้แล้วแต่ใช้สูตรไหน กันฝุ่น หรือทั้งกันน้ำและฝุ่น ซึ่งราคานี้ เป็นราคาห้องทดลอง หากราคาในเชิงพาณิชย์จะต่ำกว่านี้อีกเท่าตัว เคลือบ 1 ครั้งใช้ได้ประมาณ 2 – 5 ปี  ครั้งต่อไปจะมีการเคลือบได้ง่าย และยังช่วยลดขั้นตอนการทำความสะอาดแผงโซลาร์ที่ติดตั้งบนหลังคาให้น้อยลง ไม่ต้องเกิดการเหยียบแผงโซลาร์จากการทำความสะอาดบ่อยครั้ง ช่วยลดอันตรายของพนักงานที่ขึ้นไปทำความสะอาดอีกด้วย                     

นายเกียรติสยาม ลิ้มตระกูล ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทางจีพีเอสซี ที่ได้ดำเนินโครงการนี้ เป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจะได้พลังงานจากแสงอาทิตย์มาใช้ในฟาร์มต่างๆ ของวิทยาลัย เช่น ฟาร์มโคนม ฟาร์มพืช ฟาร์มหมู ไก่ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้า ช่วยประหยัดงบประมาณของวิทยาลัย และในอนาคต หลังจากได้ผลการทดสอบประสิทธิภาพแล้ว ทางวิทยาลัยฯ จะให้นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ หรือแม้แต่เกษตรกรเอง เข้ามาศึกษาเรียนรู้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ นำไปปรับใช้ในชุมชน หรือครอบครัว สามารถนำไปต่อยอดในการใช้ในการเกษตรในอนาคต ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ควรเรียนรู้และค่าใช้จ่ายที่ลดลงต่อปีประมาณ 175,000 บาท ยังสามารถนำไปส่งเสริมให้นักศึกษาทำการเกษตร เพื่อหารายได้ระหว่างเรียน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครองอีกทาง