จากผลกระทบที่ขยายวงกว้างหลังราคาเนื้อสุกร (เนื้อแดง) ขยับพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ราวกิโลกรัมละ 200 บาท และคาดว่าอาจจะขยับสูงขึ้นอีก ส่งผลให้ผู้ประกอบการขายปลีกเนื้อสุกร (หมูเขียง) โดยเฉพาะรายย่อย และผู้ประกอบร้านอาหาร ทยอยปรับเพิ่มราคา โดยสาเหตุหนึ่งมาจาก ปัญหาโรคระบาดในสุกรที่กระจายเป็นวงกว้าง ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษา จน อธิบดีกรมปศุสัตว์ ต้องระดมพลตรวจสอบ ค้นหา สอบสวนโรค ASF ทุกพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวัง และป้องกันโรคระบาดในสุกร ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เปิดสาเหตุทำไม ‘หมูแพง’ ยาวนานแค่ไหน ถึงสงกรานต์หรืออาจทั้งปี หาคำตอบที่นี่!

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว “เดลินิวส์” ได้ตรวจสอบข้อมูลของการเกิดโรคระบาด เพิร์ส (PRRS) และ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ถึงข้อแตกต่างของโรคทั้ง 2 ชนิดนี้ ว่า มีความแตกต่างของโรคอย่างไรบ้าง พบว่า การเกิดโรคระบาด เพิร์ส (PRRS) หรือ Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการทางระบบสืบพันธุ์ และทางเดินหายใจ เชื้อไวรัสนี้สามารถคงอยู่ในกระแสโลหิตได้เป็นเวลานาน จะมีการแพร่กระจายของเชื้อทางอากาศภายในรัศมี 3 กิโลเมตร (โดยทั่วไปประมาณ 2 กิโลเมตร) โดยการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ป่วย เชื้อไวรัสจำนวนมากจะถูกขับออกมาทางลมหายใจและอุจจาระ เชื้อจึงแพร่จากสุกรป่วยไปยังสุกรอื่นๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะจากการดมและเลียกัน อาการและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ การจัดการฟาร์ม การสุขาภิบาล ระบบการหมุนเวียนอากาศ และสถานภาพสุขภาพของสุกรในฝูง และมักพบโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย ความรุนแรงของโรคจะลดลงเมื่อสุกรอายุมากขึ้น สุกรที่อายุมากกว่า 1 เดือน จะแสดงอาการไม่เด่นชัดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน หลักจากมีการระบาดของโรคนี้ไประยะหนึ่ง ความรุนแรงของโรคจะค่อยๆ ลดลง สุกรป่วยแสดงอาการไม่รุนแรง ปัจจุบันมีวัคซีนหลายชนิดทั้งชนิดเชื้อเป็นและเชื้อตาย โดยมีประสิทธิภาพแตกต่างกันออกไป

เพิ่งตื่น! อธิบดีกรมปศุสัตว์ ส่งทีมลุยสกัดโรคASF ต้นตอ ‘หมูแพง’ ทั้งที่ระบาดไทยกว่า 3 ปี

ส่วน โรคระบาด โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เป็นโรคระบาดในสุกรที่มีความรุนแรง และก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสุกรทุกกลุ่มอายุ เกิดจากเชื้อไวรัส African Swine Fever Virus – ASFV เป็น double-strand DNA Virus อาการของโรค ASF สุกรท้องเสีย มีไข้สูง เลือดออกตามร่างกาย ผิวหนังแห้ง มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำ โดยเฉพาะใบหู ท้อง ขาหลัง และจะตายภายใน 7-14 วัน ทั้งยังมีอาการทางระบบ อื่น ๆ เช่น ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร การแท้งในทุกช่วงของการตั้งท้อง พบได้ทุกกลุ่ม และทุกช่วงวัยของหมู อัตราการป่วย เท่ากับ 100 เปอร์เซนต์ อัตราการตาย เท่ากับ 30-100 เปอร์เซนต์ แต่หากเป็นใน ลูกหมู อัตราการตายจะสูงถึง 80-100 เปอร์เซนต์ ภายใน 14 วัน สุกรที่ติดเชื้อจะแสดงอาการ ไข้ขึ้นสูง 40.5 -42°C หนาวสั่น ผิวหนังสีแดง มีจุดเลือด โดยเฉพาะบริเวณใบหู พื้นท้อง โคนขาด้านใน หายใจหอบ ระยะแรกมีอาการท้องผูก ระยะต่อมาจะท้องเสียถ่ายเหลว และอาจพบอาการทางประสาทร่วมด้วยเช่น เดินโซเซ ขาหลังเป็นอัมพาต ไม่กินอาหาร ไม่ยอมเคลื่อนไหว และไม่มีแรง โดยสามารถติดได้ทุกช่วงวัย และมีโอกาสตายภายใน 2 สัปดาห์

การติดต่อและแพร่กระจายติดต่อได้จากการสัมผัสเชื้อสุกรที่ป่วยโดยตรง ติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสอุปกรณ์และภาชนะ รวมถึงเศษอาหาร หรือสุกรอาจถูกกัดโดยเห็บอ่อนที่รับเชื้อมาแล้ว ซึ่งพบมากในสุกรป่า ปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือการรักษาโรคเฉพาะ และหากระบาดขึ้นแล้ว โอกาสกำจัดเชื้อให้หมดไปนั้น ทำได้ค่อนข้างยาก และมักพบการระบาดซ้ำ ดังนั้นกรมปศุสัตว์จึงเข้มงวดกับการป้องกันอย่างจริงจัง มีมาตรการ เช่น การเข้มงวด กับการนำเข้าเนื้อหรือผลิตภัณฑ์หมู จากต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเป็นการป้องกันในเบื้องต้น

ที่ผ่านมาทางกรมปศุสัตว์มีการออกมาตรการในการป้องกัน โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู คือ 1. ห้ามนำเศษอาหารจากครัวเรือนใช้เลี้ยงสุกร 2. ห้ามนำเนื้อหมูจากแหล่งอื่นเข้าไปกินในฟาร์ม 3. ห้ามให้สัตว์พาหะ เข้ามาในเขตฟาร์ม 4. ห้ามบุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมฟาร์ม 5. ห้ามนำอุปกรณ์หรือของใช้ส่วนตัวเข้าฟาร์ม 6.ห้ามใช้รถขนส่งภายนอกเข้าเขตฟาร์ม 7. ห้ามรถลูกค้าเข้ามาซื้อสุกรที่ฟาร์ม 8. ห้ามรับสุกรทดแทนจากพื้นที่เสี่ยงเข้าฟาร์ม 9. ห้ามนำน้ำภายนอกเข้าไปใช้ในฟาร์ม 10. งดนำสุกรที่ป่วยหรือตาย ออกนอกฟาร์ม