เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.2890/2562 ที่ น.ส.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2562 จำเลยโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวใช้ชื่อว่า “ผู้กองปูเค็ม” ทำนองว่า “พรุ่งนี้จะยื่นหนังสือร้องอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรณี ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ยุยง ปลุกปั่นประชาชนแยกดินแดน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ขอเชิญสื่อมวลชนด้วยครับ” ทำให้เพื่อนในเฟซบุ๊กและบุคคลที่สามเห็นข้อความแล้วแสดงความคิดเห็นด้วยข้อความดูหมิ่น เกลียดชัง และด่าทอโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ต่อมาวันที่ 3 ต.ค. 2562 เวลาประมาณ 08.00 น. จำเลยไลฟ์สดผ่านทางเฟซบุ๊ก เผยแพร่ข้อความใส่ความโจทก์ว่า “จัดเต็มแม่งอย่างเดียวครับ นี่คือแม่พิมพ์นะครับ แม่พิมพ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีแนวคิดกบฏ แยกแผ่นดินนะครับ แล้วลูกศิษย์ลูกหา นิสิตจะเป็นยังไง คงไม่ต้องเดานะครับ” และข้อความว่า “เอาผลประโยชน์การเมืองของตัวเองไปแลกกับผลประโยชน์ของชาติของประเทศ” จากนั้นเวลาประมาณ 10.30 น. จำเลยยังได้ไลฟ์สดผ่านทางเฟซบุ๊กขณะไปยื่นหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ มีข้อความว่า การกระทำดังกล่าว ส่อว่าเป็นการกล่าวเพื่อให้มีการแบ่งแยกรัฐคือประเทศไทยออก หรือสนับสนุนให้มีการแบ่งแยก หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ อันเป็นความผิดต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นการเติมเชื้อไฟให้แก่สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนอย่างปฏิเสธไม่ได้ และ วันที่ 31 ต.ค. 2562 จำเลยโพสต์ข้อความว่า “การแอบอ้างเสรีทางวิชาการเพื่อแบ่งแยกแผ่นดินนั้น ควรถูกตัดหัวเสียบประจาน จริงมั้ย ชลิตา?” ทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง โจทก์มิได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนแยกดินแดนแต่อย่างใด

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า แม้จะเป็นข้อความที่มีถ้อยคำรุนแรงไปบ้าง ก็ถือเป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพและคำหยาบเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ หรือทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนแล้ว เห็นว่า จำเลยไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นในเนื้อหาเกี่ยวกับการเสวนาของจำเลย แต่มุ่งแสดงความเห็นที่เป็นการทำลายชื่อเสียง ศักดิ์ศรี และคุณค่าฐานะทางสังคมของโจทก์ ในชั้นนี้ยังฟังไม่ได้ว่าแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือติชมด้วยความเป็นธรรม อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นว่าคดีมีมูล จึงพิพากษากลับให้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลย ประกอบกับระหว่างพิจารณาจำเลยแถลงยอมรับว่าโพสต์ข้อความและถ่ายทอดสด (ไลฟ์สด) ผ่านทางเฟซบุ๊ก มีการเผยแพร่ข้อความและถ้อยคำตามฟ้องจริง ทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับชมขณะจำเลยไปยื่นหนังสือถึงอธิการบดี ม.เกษตรศาสตร์ ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ จากกรณีที่โจทก์พูดแสดงความคิดเห็นในการเสวนา และอัพโหลดหนังสือดังกล่าวบนหน้าเฟซบุ๊กของจำเลยเพื่อให้เพื่อนในเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นบุคคลที่สามรวมทั้งสื่อมวลชนได้ดาวน์โหลด แล้วสื่อมวลชนหลายสำนักนำไปเผยแพร่ทั่วประเทศ เห็นว่าข้อความของจำเลยที่ระบุว่า โจทก์ยุยงปลุกปั่นประชาชนแยกดินแดนนั้น ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นหรือติชม เพราะไม่มีข้อเท็จจริงหรือเหตุผลตามความคิดเห็นของจำเลย ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของโจทก์ในการเสวนาว่าไม่ถูกต้องอย่างไร มีเพียงการใส่ความโดยการกล่าวหาเรื่องร้ายให้แก่โจทก์ด้วยข้อหาร้ายแรงว่ายุยงปลุกปั่นประชาชนแยกดินแดน เป็นเหตุให้ต้องยื่นหนังสือถึงอธิการบดี ม.เกษตรศาสตร์ ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ ทำให้เพื่อนในเฟซบุ๊กหรือบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความเข้าใจไปตามข้อความของจำเลย ส่งผลกระทบต่อเกียรติและสถานะทางสังคมของโจทก์ มิใช่การติชมด้วยความเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้จำเลยไม่มีเหตุจูงใจส่วนตัวเพื่อกลั่นแกล้งใส่ความโจทก์ แต่จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่า ข้อความหรือคำพูดของจำเลยดังกล่าวจะทำให้โจทก์เสียหาย

จึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกกระทงละ 6 เดือน และปรับกระทงละ 50,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 เดือน และปรับ 100,000 บาท อย่างไรก็ตามพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี กับให้จำเลยลบข้อความหรือคลิปไลฟ์สดที่มีข้อความหรือคำพูดหมิ่นประมาทโจทก์ตามคำพิพากษา.