ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 15 ก.พ. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวาระเศรษฐกิจ กระทรวงพลังงานจะเสนอ ครม. พิจารณาตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 และครั้งที่ 1/2565

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2565 และผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564  ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2565

สำหรับการพิจารณาตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี นั้น ก่อนหน้านี้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ได้ให้สัมภาษณ์ว่า บอร์ดอีวีจะเสนอให้ ครม.พิจารณา ในเบื้องต้นมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย คาดว่าจะเป็นแพ็กเกจลดภาษี เช่น ลดภาษีนำเข้า ซึ่งกรณีในต่างประเทศมีภาษีทั้ง 0%, 20% และ 40% รวมทั้งจะลดภาษีสรรพสามิตด้วย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะมีเงินอุดหนุนมาสนับสนุนให้ราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศถูกลง เมื่อรวมกับลดภาษีแล้ว อาจจะมีส่วนลดมากกว่า 150,000 บาท สำหรับรถขนาดใหญ่ ส่วนรถขนาดเล็กอาจลดลงไปได้หลายหมื่นบาท โดยจะมีเงื่อนไขบางประการเพื่อให้เกิดการลงทุนตั้งโรงงานผลิตในไทยด้วย

นอกจากวาระในส่วนของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังต้องติดตามการประชุม ครม. ที่อาจมีในเรื่องมาตรการดูแลค่าครองชีพด้านพลังงาน จากที่ก่อนหน้านี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้ระบุว่า กระทรวงพลังงานจะเสนอมาตรการบรรเทาค่าครองชีพด้านพลังงานให้ ครม. พิจารณา โดยหนึ่งในนั้นจะมีมาตรการด้านภาษีรวมอยู่ด้วย

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ได้บอกว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะนำเสนอมาตรการดูแลค่าครองชีพด้านพลังงานเข้า ครม. ได้ทันในวันที่ 15 ก.พ. หรือไม่ ซึ่งต้องรอความชัดเจนเรื่องภาษีสรรพสามิตในส่วนของภาษีน้ำมันก่อน โดยมาตรการจะผสมผสานระหว่างภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการดูแลค่าครองชีพในด้านพลังงานนั้น กระทรวงการคลัง จะเสนอพิจารณาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 2-3 บาทต่อลิตร โดยการลดภาษีลงทุก 1 บาทต่อลิตร จะทำให้รายได้รัฐสูญเสียไป 2,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 24,000 ล้านบาทต่อปี