เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่รัฐสภา คณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี นำโดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายบุญส่ง ชเลธร ผอ.หลักสูตรผู้นำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต พร้อมแนวร่วม อาทิ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม โฆษกพรรคกล้า นำรายชื่อประชาชน 70,500 รายชื่อ ที่ร่วมกันลงนามขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมี น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ คณะทำงานการเมืองประธานสภาฯ เป็นตัวแทนรับ

นายสมชัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันที่ 9 ธ.ค. 64 คณะผู้ริเริ่ม ได้เริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชน เนื่องจากเห็นปัญหาที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย เพราะนายกฯ ต้องมาจากการเลือกของ ส.ส.ในที่ประชุมสภาฯ ตรงนี้ถือเป็นหลักสากล อีกทั้งวันนี้ เราไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ ส.ว. ต้องมาโหวตเลือกนายกฯ จึงควรคืนหลักการที่เป็นสากลให้ประชาชนได้แล้ว เราใช้เวลารวบรวมรายชื่อกว่า 2 เดือน ได้รายชื่อแล้ว 8 หมื่นรายชื่อ แต่จะส่งขอส่งรายชื่อขั้นต้นก่อน 70,500 รายชื่อ ซึ่งกรอบเวลาจากนี้คิดว่าสำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะใช้เวลาไม่เกิน 45 วัน ในการตรวจสอบรายละเอียด เราหวังว่าจะได้รับการบรรจุระเบียบวาระ เพื่อที่จะได้พิจารณาในสมัยประชุมที่ 1 ประจำปี 65 อย่างไรก็ตาม การลงชื่อยังดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ และหวังว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป หากมีการแก้ไขหลักการข้อนี้แล้ว การเลือกนายกฯ จะได้ดำเนินการในที่ประชุมสภา โดย ส.ส. เอง

ทางด้าน นายบุญส่ง กล่าวว่า เราเรียกร้องประเด็นเดียวคือ มาตรา 272 และขอให้แก้ไขเพียงการยกเลิกสิทธิ ส.ว. ในการเลือกนายกฯออกเท่านั้น ประเด็นอื่นเราไม่ได้แตะต้อง เราเชื่อมั่นว่า ระบอบประชาธิปไตยต้องเชื่อประชาชน การเลือกตั้งครั้งต่อไปขอให้ยุติการให้ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของประชาชนตัดสินอนาคตเขาเอง ประเด็นนี้พวกท่านต้องให้ผ่าน ขออย่าขัดขวางกระแสธารของประวัติศาสตร์

“ที่ผ่านมาเรามีโอกาสกันพูดคุยกับ ส.ว.หลายท่าน ผมได้พบกับ ส.ว. 4 คน เขาเห็นด้วยในประเด็นนี้ ซึ่ง ส.ว. มีความรู้สึกที่ดี และรับปากจะโหวต แต่เมื่อถึงเวลาไม่รู้จะโหวตหรือไม่ ผมมองว่าการที่ต้องตอบแทนผู้แต่งตั้งเขามานั้นเพียงหนึ่งครั้งก็เพียงพอแล้ว การเสนอตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ น่าจะเป็นผลดีกับ ส.ว. ที่จะทำให้ไม่ต้องถูกตำหนิจากสังคมอีก เพราะถ้า ส.ว. ยังโหวตอีก น่าจะโดนตำหนิมากกว่าเดิมอีกล้านเท่า เราจึงขอความร่วมมือท่านในเรื่องนี้ด้วย” นายบุญส่ง กล่าว

ขณะที่ น.ส.ผ่องศรี กล่าวว่า ประธานสภาฯ ให้ความสำคัญต่อการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนอย่างยิ่ง ในยุคนี้มีกฎหมายจากภาคประชาชนเข้ามามากที่สุดในประวัติศาสตร์ 60 กว่าฉบับ เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ จากนี้เป็นขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อ ก่อนส่งไปกรมการปกครอง ซึ่งจะใช้เวลาไม่นาน เมื่อดำเนินการเสร็จเชื่อว่าประธานสภาฯ จะบรรจุเข้าระเบียบวาระเพื่อพิจารณาต่อไป.