ทำเอาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เตือน ดารา-คนดัง Influencer กรณีการเคลื่อนไหวทางการเมืองโจมตีรัฐบาล อาจเป็นการสร้างเฟคนิวส์ขึ้นในระบบโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ก.ค. “ทนายนิด้า-ศรันยา หวังสุขเจริญ” ได้ออกมาแสดงความเห็นระบุว่า “#วิจารณ์รัฐบาลเอาอะไรมาผิด” ไม่ว่าใครจะเป็นคนขู่ อยากบอกว่าอย่ามาขู่อะไรน่าเกลียดแบบนี้เลย ไปทำมาหากินจ้ะ นิด้าไม่รู้ใครเป็นคนขู่ แต่ถ้ารัฐบาลเองที่เป็นคนขู่ ขอให้เอาเวลาขู่ไปพิสูจน์ตัวเองเพื่อตบหน้าคนวิจารณ์ว่าที่พูดมานั้นมันไม่จริง

“เราต้องแยกให้ออกระหว่าง #การวิจารณ์ กับ #การใส่ความ”
การวิจารณ์คือการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องราวอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น ว่าเรามีความรู้สึกหรือได้รับผลกระทบต่อสิ่งนั้นอย่างไร หากการวิจารณ์อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง หากเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นจริง ประชาชนย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ว่าดีหรือไม่ดี เลวหรือไม่เลว ปากท้องและความเป็นอยู่ของพวกเราทั้งนั้น
ต่างจากการใส่ความ ที่ต้องบอกว่าการใส่ความไม่ว่าจะใส่ใครก็ผิด การใส่ความคือการยืนยันข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นความจริง ยืนยันว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแต่มันไม่เคยเกิดขึ้น แบบนี้อาจไม่ใช่การวิจารณ์ แต่เป็นการใส่ความ ซึ่งแบบนี้ถึงจะเสี่ยงว่าผิด ก็ควรจะพูดให้ถูกว่าจะเอาผิดคนวิจารณ์หรือคนใส่ความ เอาให้แน่นอน

“เวลาคนให้ข่าว หรือเวลาข่าวออกก็อยากให้ประชาชนไม่สับสนว่า รัฐบาลที่ก็ไม่ใช่พ่อ แต่ทำไมพวกเราถึงแสดงความคิดเห็นไม่ได้วะ จริงๆ มันต้องได้สิ ยืนยันตรงนี้ ว่าวิจารณ์รัฐบาลทำได้และประชาชนควรทำบนพื้นฐานความสุจริตเพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพ์” ถ้าแม้แต่วิจารณ์ก็ยังทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องเรียกประเทศไทยว่าประเทศไทยแล้ว ในตำราต้องไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว ต้องระบอบเผด็จการแล้ว #ฝากไว้ให้ได้คิด #รัฐบาลที่เคารพรักสุดหัวใจดวงนี้..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @ทนายนิด้า