เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ในการรักษาผู้ป่วยโควิด ที่มีผลวิจัยในห้องทดลอง แต่ยังไม่มีผลวิจัยที่ชัดเจนในคน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มียาตัวอื่นที่เป็นทางเลือกมากนัก แต่ขณะนี้มีผลวิจัยว่า “ยาโมลนูพิราเวียร์” สามารถลดความรุนแรงของโควิดได้ 30% ยิ่งมีการให้กินยาเร็ว ในคนที่มีความเสี่ยง จะช่วยลดอาการรุนแรงได้ ซึ่งตอนนี้ในต่างประเทศมียาที่รักษาผู้ป่วยโควิด ที่มีหลักฐานการวิจัยที่ชัดเจน ที่เป็นทั้งยากินและยาฉีด ไทยต้องเปลี่ยนยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด เพราะตอนนี้มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า “ยาโมลนูพิราเวียร์” มีประสิทธิภาพดีกว่า “ฟาวิพิราเวียร์” และมีราคาที่ถูกกว่าเดิม ซึ่งตอนนี้คาดว่า “ยาโมลนูพิราเวียร์” จะมีการนำเข้ามาในอาทิตย์หน้า และมีการกระจายไปตามโรงพยาบาลในพื้นที่ต่าง ๆ

ส่วน “ยาเรมเดซิเวียร์” เป็นอีกตัว ที่มีผลวิจัยว่ารักษาโควิดได้ 80% เป็นยาฉีด จึงมีราคาสูงมาก โดยคนไข้ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล 3 วัน แต่ “ยาโมลนูพิราเวียร์” คนไข้ไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล โดยต้องให้ยาติดต่อกัน 5 วัน และห้ามให้ยากับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งราคายา หากเป็นบริษัทแม่ที่ผลิตจะอยู่ที่ 50,000 บาทต่อ 1 การรักษา แต่ยาโมลนูพิราเวียร์ ยังมีโรงงานที่ผลิตในอินเดีย ที่มีราคาถูกกว่าคือ 600-700 บาทต่อ 1 การรักษา ไทยควรนำเข้ายาจากโรงงานผลิตที่อินเดีย เพราะการมียารักษาที่หลากหลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องมีการกระจายให้คนทั่วไปเข้าถึงอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยราคาที่ไม่แพงเกินจริง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือ การกระจายยาโมลนูพิราเวียร์ ให้ทุกโรงพยาบาลอย่างเพียงพอ เพราะจะช่วยให้ปริมาณของผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในประเทศลดลง แม้มีการฉีดวัคซีน แต่ในคนที่ต้องกินยากดภูมิอยู่เป็นประจำ อาจทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นการมียารักษาที่มีประสิทธิภาพย่อมดีกว่า เพราะการจะกำหนดให้โควิด เป็นโรคระบาดประจำถิ่นได้ สิ่งที่ต้องมีคือ ยารักษาที่มีคุณภาพ โดยคาดว่า การแพร่ระบาดของโควิด ในไทยจะลดลงหลังสงกรานต์ประมาณ 2-3 อาทิตย์ แต่ไม่ควรประมาท ซึ่งยังต้องมีการเฝ้าระวังและป้องกัน โดยเฉพาะกรณีการที่ลูกหลานกลับไปบ้านนำเชื้อไปติดผู้สูงอายุที่บ้าน.