เมื่อวันที่ 19 มี.ค.65 นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าว กรณีตรวจพบการใช้หนังสือคนประจำเรือสำหรับแรงงานต่างด้าว (Seabook) ปลอม ณ สะพานปลาวราสินธ์ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุร สืบเนื่อง วันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลอ่างศิลา (ชลบุรี) กองตรวจการประมง ว่าขณะเจ้าหน้าที่นำเรือตรวจการประมงทะเล 213 ออกปฏิบัติการตรวจปราบปราม และควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย บริเวณอ่าวแสมสาร ปรากฏพบเรืออวนลากคู่ ซึ่งมีแรงงานต่างด้าว 11 ราย ใช้เอกสารประกอบแทน (seabook) ปลอม พร้อมมีการขยายผลโดยศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก ชลบุรี ว่าได้ตรวจพบเหตุอันควรสืบค้นการใช้เอกสารปลอมในลักษณะเดียวกัน ในแรงงานต่างด้าว 4 ราย จึงได้ออกคำสั่งเรียกเรือประมงทั้ง 2 ลำ กลับเข้าฝั่ง และร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสหวิชาชีพ ประกอบด้วย ศรชล. กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน และล่าม ซึ่งพบแรงงานต่างด้าวใช้เอกสารปลอมจริง

โดยทั้ง 2 กรณี เป็นการกระทำความผิดพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 83 ฐานความผิด เป็นเจ้าของเรือใช้แรงงานต่างด้าวทำงานบนเรือโดยไม่มีหนังสือคนประจำเรือ ซึ่งต้องได้รับโทษตามมาตรา 153 ปรับ 400,000-800,000 บาท ต่อหนึ่งคนประจำเรือ ซึ่งกรณีนี้ เจ้าของเรือประมงอวนลากคู่ เคสที่ 1 มีแรงงานต่างด้าวใช้เอกสารปลอม 11 ราย ต้องเสียค่าปรับไม่ต่ำกว่า 4,400,000 บาท ส่วนอวนลากคู่ เคสที่ 2 มีแรงงานต่างด้าวใช้เอกสารปลอม 4 ราย ต้องเสียค่าปรับไม่ต่ำกว่า 1,600,000 บาท และมีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร และใช้เอกสารปลอมด้วย เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษนำผู้ต้องหา และของกลาง รวมเรืออวนลาก 2 คู่ (เรือ 4 ลำ) และแรงงาน 15 ราย ส่งพนักงานสอบสวน สภ.สัตหีบ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

อีกทั้ง กรมประมงจะดำเนินการมาตรการทางการปกครองโดยเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงของเจ้าของเรือ และเจ้าของเรือจะเป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 39 ขาดคุณสมบัติในการได้รับใบอนุญาตทำการประมงในรอบถัดไป เป็นเวลา 5 ปี และกรมประมงจะขยายผลติดตามกรณีนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยในส่วนของแรงงานภาคการประมง มีการประกาศใช้กฎหมายคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ รวมทั้ง สวัสดิการแรงงานประมง ที่เจ้าของเรือประมงจะต้องดำเนินการไว้อย่างชัดเจน อาทิ ค่าจ้าง เงินตอบแทน หลักประกันสุขภาพ วันหยุดพักผ่อน เวลาทำงาน อาหารน้ำดื่ม ที่พัก ฯลฯ และหากเจ้าของเรือไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานต่างด้าวบนเรือประมง จะต้องมีหนังสือคนประจำเรือ (seabook) เพื่อบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้อยู่ในระบบที่รัฐสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง เพื่อเป็นการป้องกันการค้ามนุษย์ โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเข้มงวดกวดขันในเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยใช้หลัก 3 ป. คือ ป้อง ปราม และปราบ ซึ่งที่ผ่านมา กรมประมง ได้แก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และแรงงานประมงผิดกฎหมาย อย่างจริงจัง