กลายเป็น “สมรภูมิ” การแข่งขันที่ต้องจับตา สำหรับ  “วิดีโอสั้น” ที่กำลังเป็นที่นิยมของชาว “โซเชียล” เมื่อผู้ให้บริการ “สื่อสังคมออนไลน์” หรือ “โซเชียลมีเดีย” ชื่อก้องโลก ต่างหันมาเปิดฟีเจอร์ “วิดีโอสั้น” ในชื่อต่าง ๆ เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้งานของตนเอง

เพื่อท้าชนกับผู้นำอย่าง “ติ๊กต็อก” ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น “YouTube Shorts” ของยูทูบ   “LINE VOOM” ของไลน์ หรือแม้แต่ยักษ์ใหญ่ อย่าง เมตา (Meta) ผู้ให้บริการ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม หรือไอจี ก็ยังผุด “Reels”  ฟีเจอร์ “วิดีโอสั้น” ออกมาเรียกยอดใช้งานจากคน “ชอบเสพ” คลิปวิดีโอสั้น

ในฐานะที่เป็น “เจ้าพ่อโซเซียลมีเดีย” อย่าง “เมตา” ที่มีจำนวนผู้ใช้งาน ไอจี และเฟซบุ๊ก มากกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก โดดมาร่วมวงเล่นในตลาด “วิดีโอสั้น” ในชื่อ “Reels“ มาได้ประมาณ 1 ปีแล้ว โดยเริ่มจากบน อินสตาแกรม ก่อนที่จะขยายมาให้บริการบน เฟซบุ๊ก ในอีกมากกว่า 150 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ในช่วงเดือนที่ผ่านมา

1 ปีที่ผ่านมา บริการ “Reels” มีทิศทางเป็นอย่างไร ทาง “แพร ดํารงค์มงคลกุล”  ผู้อำนวยการของ เฟซบุ๊ก ประเทศไทย จาก เมตา บอกว่า การเพิ่มบริการ Reels ให้ครอบคลุมทั้ง อินสตาแกรม และ เฟซบุ๊ก จะช่วยให้ครีเอเตอร์ มีช่องทางที่ครบวงจรมากขึ้นในการเชื่อมต่อและการถูกค้นพบ กลุ่มผู้ติดตามใหม่ ๆ ทั้งผ่านบน Feed, กลุ่ม หรือการแนะนำเนื้อหาจาก อินสตาแกรม มาสู่ เฟซบุ๊ก

แพร ดํารงค์มงคลกุล

สำหรับในประเทศไทยนั้น ทางผู้บริหารของ “เมตา” ยืนยันว่า มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจครีเอเตอร์ ของประเทศไทย (Creator Economy) และช่วยเหลือและส่งเสริมการทำงานของครีเอเตอร์ เพื่อทำให้กลายมาเป็นอาชีพได้จริง ๆ รวมถึงการจัดหาทรัพยากร การสนับสนุน และจัดหาเครื่องมือการสร้างรายได้ที่หลากหลายให้กับครีเอเตอร์ ทั้งผู้ที่กำลังเริ่มต้นสู่อาชีพครีเอเตอร์ หรือนักสร้างคอนเทนต์มืออาชีพที่มีฐานแฟนคลับอยู่แล้ว

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นผ่านการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ และรวมถึงฟีเจอร์ Reels เพื่อให้ทุกคนสามารถเป็นครีเอเตอร์บนเวทีโลก และจากเมตาเวิร์สกำลังถูกพัฒนา จะลดข้อจำกัดด้านกายภาพสำหรับโลกธุรกิจ และการค้าขายที่มีอยู่ในปัจจุบัน และช่วยให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ได้มากขึ้น ทำให้ครีเอเตอร์และผู้ประกอบการ จะมีอิสระในการคิดโมเดลทางธุรกิจที่เหมาะกับตนเองได้ เช่น ที่ผ่านมาเริ่มมีการจัดแสดงคอนเสิร์ต การจำหน่ายสินค้า จำพวกสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าง NFT ฯลฯ

“เมตา จะเร่งสนับสนุนเศรษฐกิจครีเอเตอร์ในประเทศไทย ทั้งการสร้างเครื่องมือและทรัพยากรสำหรับครีเอเตอร์ที่ใฝ่ฝันหรือกำลังเริ่มต้นเส้นทางอาชีพนี้ หรือนักสร้างคอนเทนต์มืออาชีพที่เป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว รวมถึงการเพิ่มเครื่องมือใน Spark AR สตูดิโอ เพื่อสร้างสรรค์ฟีเจอร์ใหม่ ๆ สำหรับการซื้อขายหรือชอปปิง ผ่านการสร้างสิ่งของแบบ 3 มิติ ในโลกจริง โดยเมตาได้ลงทุนเงินกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่ออบรมครีเอเตอร์รุ่นใหม่ ๆ และจะจัดทำหลักสูตรและออกใบรับรอง สำหรับการเรียนทำเอฟเฟกต์ AR แบบต่าง ๆ”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทางผู้บริหารของเมตาเน้นย้ำ คือ การช่วยให้ครีเอเตอร์มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงกำลังสร้างเครื่องมืออื่น ๆ ที่จะช่วยให้ครีเอเตอร์สามารถสร้างรายได้จาก Reels ได้โดยตรง ผ่านรายได้จากการโฆษณา และการสนับสนุนจากฐานแฟนคลับของครีเอเตอร์นั้น ๆ นอกจากนี้ ยังจะขยายโปรแกรมแจกโบนัสให้กับครีเอเตอร์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จากการที่มีผู้รับชม Reels ซึ่งเป็นไปตามแผนการลงทุนเพื่อสนับสนุนครีเอเตอร์มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ของบริษัท

ขณะเดียวกัน ในส่วนของธุรกิจและแบรนด์ต่าง ๆ นั้น “แพร ดํารงค์มงคลกุล” บอกว่า ทาง Reels เป็นอีกช่องทางที่กำลังเติบโตและเปิดโอกาสการเล่าเรื่องของแบรนด์ (story-telling) ผ่านการทำงานร่วมกับครีเอเตอร์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ ที่มีฐานแฟนคลับและธุรกิจ ยังสามารถเพิ่มช่องทางการโฆษณาหรือทำ reels ad placement ได้บนอินสตาแกรมด้วย

สำหรับ 1 ปีที่ผ่ามา สัดส่วนของผู้ใช้งานอินสตาแกรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สร้างคลิป Reels ทุกวัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และ 45% ของผู้ใช้งานอินสตาแกรม จะมีการใช้งาน อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

นอกจากนี้ สิ่งที่ยืนยันได้ว่า “วิดีโอสั้น” กำลังได้รับความนิยม คือ ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจำนวน 99% มีการรับชมวิดีโอออนไลน์ทุกเดือน ซึ่งความนิยมในวิดีโอสั้นได้ช่วยขับเคลื่อนให้การบริโภควิดีโอเติบโต โดยผู้คนรับชมวิดีโอคิดเป็นเกือบครึ่งของเวลาที่ใช้บนเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม  

ซึ่งประเทศไทย ถือเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ที่มีการสร้าง Reels ที่เป็นแหล่งรวมความสนใจของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่โดดเด่นในเรื่องการสร้างเนื้อหาผ่านเสียงเพลง การเล่นเกม และการแสดงออก โดยกลุ่ม Gen Z เป็นกลุ่มผู้ชมที่กำลังเติบโต คิดเป็น 28% ของผู้ชมทั้งหมด ขณะที่กลุ่มมิลเลนเนียล อยู่ที่ 23% และกลุ่ม Gen X รวมกับเบบี้บูมเมอร์ อยู่ที่ 49% และมีครีเอเตอร์กว่า 600,000 ราย ใช้เอฟเฟกต์ AR มากกว่า 2,500,000 ครั้ง บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของเมตา

สำหรับ 5 เนื้อหายอดนิยมของ Reels ประเทศไทย ได้ แก่ 1.คลิปวันหยุด/ท่องเที่ยว 2.แดนซ์ ชาเลนจ์ 3.เบื้องหลังการถ่ายทำ 4.ฟิลเตอร์ Meme และ 5.แมว

อย่างไรก็ตาม การมี Reels บนเฟซบุ๊ก จะช่วยให้ครีเอเตอร์มีช่องทางที่ครบวงจรในการเชื่อมต่อและถูกค้นพบโดยกลุ่มผู้ติดตามใหม่ ๆ มากขึ้น ผ่านฟีด กลุ่มเฟซบุ๊ก หรือการแชร์เนื้อหาจากอินสตาแกรม มายังเฟซบุ๊ก นอกจากนี้ยังมีการผนวก Reels เข้ากับ Facebook Watch ซึ่งมีคนกว่า 1,250 ล้านคนทั่วโลก เป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ บนเฟซบุ๊ก ที่คนจะพบเห็นและเข้ามามีส่วนร่วมกับ Reels ได้มากขึ้นด้วย

ทั้งหมดคือแนวทางการสนับสนุนครีเอเตอร์ ของ “เมตา” และข้อมูลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่ชี้ให้เห็นว่า “ยักษ์โซเชียล” รายนี้ เอาจริง! ในการกระโดดลงแข่งขันในตลาดนี้ และแน่นอนว่าด้วยจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกเป็นพัน ๆ ล้านคน ทำให้ผู้ให้บริการโซเซียลและผู้เล่นรายอื่น ๆ ในตลาด ก็ไม่อาจมองข้ามการมาของ “เมตา” ในครั้งนี้ได้!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์