เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กเพจ Zero C Thailand รวมพลังไทยลดยอดติดเชื้อ ให้เหลือศูนย์ ได้เผยแพร่ผลการวิจัยของทีมนักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เรื่อง “ผลของหน้ากากและการระบายอากาศต่อความเสี่ยงในการแพร่ของเชื้อ SARS-CoV-2 ในระบบทางเดินหายใจในห้องน้ำสาธารณะ: ด้วยการประเมินความเสี่ยงจุลินทรีย์เชิงปริมาณ” โดย น.ส.ขวัญรวี สิริกาญจน นักวิจัยเชี่ยวชาญประจำห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การแพร่ทางอากาศ (airborne) เป็นช่องทางหนึ่งในการระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งในพื้นที่ห้องน้ำหรือลิฟต์ที่ปิดและแคบ ไม่เห็นว่ามีใครใช้ห้องน้ำมาก่อนหน้าเรา หรือกระทั่งลิฟต์ ผลวิจัยบอกว่า แม้จะรอ 10 นาที ความเสี่ยงจะน้อยลง แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่ การใส่หน้ากากอนามัยเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุดและง่ายที่สุด

โดย งานวิจัยชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Water and Health Vol 20 No 2 หน้า 300-331 วิเคราะห์ความเสี่ยงในการติดเชื้อที่แพร่กระจายทางอากาศ กรณีที่มีผู้ติดเชื้อที่สามารถแพร่เชื้อได้มาเข้าห้องน้ำแล้วมีคนที่อาจเป็นผู้รับเชื้อมาใช้ห้องน้ำต่อ พบว่า หากผู้ที่มีเชื้อแค่หายใจเฉย ๆ ความเสี่ยงที่ผู้ที่เข้าห้องน้ำต่อจะได้รับเชื้อมีมากถึง 10% แต่หากผู้ที่มีเชื้อไอหรือจามเพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น ความเสี่ยงในการติดเชื้อก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 100% แต่หากทั้งสองฝ่ายสวมใส่หน้ากากตระกูล N95 หรือหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ความเสี่ยงจะลดลงเหลือเกือบ 0.01% การวิจัยใช้วิธีประเมินความเสี่ยงจุลินทรีย์เชิงปริมาณ โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น คำนวณปริมาณความเข้มข้นของไวรัสโดยอ้างอิงจากผล RT-PCR ที่ได้จากผู้ป่วยในโรงพยาบาลของรัฐบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค. 2564 จำนวน 251 ตัวอย่าง คำนวณด้วยโมเดลห้องน้ำสาธารณะขนาดตามมาตรฐานของประเทศไทยซึ่งมีขนาดความยาว 1.5 เมตร × กว้าง 0.8 เมตร × สูง 2.7 เมตร (ปริมาตร 3.24 ลูกบาศก์เมตร) และคำนวณในระดับการระบายหมุนเวียนอากาศที่แตกต่างกันหลายๆ ระดับ ซึ่งจากการวิจัย สรุปว่า การรอคอยเข้าห้องน้ำต่ออย่างน้อย 10 นาที ทำให้ความเสี่ยงลดลง

ขณะที่ นายธรรมณิษฐ์พล เด่นเพชรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้ที่มีเชื้อโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อได้ทั้งผ่านละอองฝอย (droplet) ซึ่งเป็นละอองน้ำมูก น้ำลายขนาดใหญ่ซึ่งจะตกลงสู่พื้นด้านล่างในระยะ2 เมตร และแพร่เชื้อผ่านละอองลอย (aerosol) ซึ่งมีขนาดเล็กจิ๋วเฉกเช่น PM2.5 และลอยค้างอยู่ในอากาศได้นาน หากเว้นระยะเวลาเข้าใช้ห้องน้ำต่อจากคนก่อนหน้า และมีการการระบายอากาศในห้องน้ำ ระดับความเข้มข้นของเชื้อโรคจะน้อยลง ถ้าเป็นละอองลอย เราจะไม่รู้ว่าคนเข้าห้องน้ำ เข้าลิฟต์ก่อนหน้าเราไอ จามอย่างไร ละอองตกค้างขนาดไหน เรามีโอกาสติดเชื้อโควิดได้

“หน้ากากกรองอากาศ (respirators) เช่น N95 KN95 KF94 FFP2 จะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้อโควิดในห้องน้ำและสถานที่สาธารณะ ในขณะที่หน้ากากอนามัยมีประสิทธิภาพรองลงมา แต่ต้องพยายามใส่ให้มิดชิดที่สุด ส่วนหน้ากากผ้าซึ่งมีหลากหลายอาจมีประสิทธิภาพแตกต่างกันไป และหน้ากากผ้าธรรมดาบางชนิดอาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะกรองละอองไวรัส การไม่ใส่หน้ากากเลย โอกาสติดเชื้อคือมี 1,000 คน ก็ติด 1,000 คน คือเสี่ยงมากๆ เลย แต่หากใส่หน้ากากตระกูล N95 และใส่อย่างถูกวิธี โอกาสติดอาจเป็น 1 ใน 100,000 คน” นายธรรมณิษฐ์พล กล่าว

ด้าน นายมนต์ชัย พุ่มแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า ไม่แนะนำให้ถอดหน้ากากในห้องน้ำสาธารณะ หากมีความจำเป็น เช่น ต้องการล้างหน้า ให้กลั้นหายใจขณะล้างหน้า และรีบใส่หน้ากากกลับเข้าไปโดยเร็วที่สุด

ขณะที่ นายเอกบดินทร์ วินิจกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวว่า จากงานวิจัยดังกล่าวทำให้แน่ใจได้ว่าห้องน้ำสาธารณะเป็นสถานที่ที่มีการสะสมของเชื้อโรค ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา และควรใช้เวลาในห้องน้ำให้น้อยที่สุด

นายธนะศักดิ์ พึ่งฮั้ว ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมบริษัทเอกชนหลายแห่ง เจ้าของเพจ “เรื่อง Airborne มองจากมุมวิศวกร” กล่าวว่า สถานการณ์ที่คนจะเผลอและมีความเสี่ยงมากคือระหว่างการรับประทานอาหารร่วมกัน เพราะเป็นช่วงที่แต่ละคนถอดหน้ากาก จึงแนะนำให้รับประทานอาหารในพื้นที่เปิดที่มีการระบายอากาศได้ดี และให้นั่งรับประทานห่างๆ กัน คนไทยไม่ควรรีบยกเลิกการใส่หน้ากากในที่สาธารณะตามอย่างคนในประเทศอื่น

“ถ้าทุกอย่างมีแต่ข่าวลบไปหมด ชีวิตมันก็เครียด ผมเข้าใจ แต่ในความเป็นจริง เราหย่อนได้ระดับหนึ่ง แต่ยังต้องควบคุมอยู่ ถ้าเราไม่ควบคุมเลย มันก็จะกลับมาเป็นแผลร้ายเหมือนตอนนี้ ที่เรากำลังจะเข้าสงกรานต์ ในสถานการณ์คนติดเชื้อวันละ 50,000 ตายวันละร้อยกว่าคน ก็จะเจอภาพนี้ซ้ำ ๆ อีก” นายธนะศักดิ์ กล่าว