เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ ห้องประชุมขวัญจุฑา โรงแรมปาร์ควิว ถนนจงรักษ์ 3 เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดยะลา ได้แถลงผลการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ในเขตพื้นที่ ภาค 9 ในรอบปีงบประมาณ 2564 และปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 4 ขึ้น โดยมี นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 9 พร้อมด้วย นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดยะลา และผู้แทนจากจังหวัดยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส, สงขลา, สตูล, ตรัง, พัทลุง เข้าร่วม

โดยที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลรวม 7 เรื่อง เรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีทุจริตมิชอบ 1 เรื่อง อย่างการชี้มูลความผิดของจังหวัดยะลา จากจำเลยทั้ง 10 คน ในการชี้มูลความผิดในข้อกล่าวหาต่ออดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมพวก 10 คน เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่ง เมื่อปี 2560

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1.นายดลเดช พัฒนรัฐ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา 2.นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา 3.นายรอซารี เจ๊ะโซ๊ะ 4.นายเอกจิตต์ เกษธิมา 5.นายโฆษิต ลูกอินทร์ 6.นายสมศักดิ์ ดำรงธรรม 7.นายสาหะ มะลี 8.นายประจักร แกล้วกล้า 9.นางณัทธิชา คงขาว 10.นายพิจิตร สัตยากุล ในข้อกล่าวหา ร่วมกันจัดทำราคากลางวัสดุก่อสร้างโครงการกิจกรรมพัฒนาวัตถุดิบเพื่ออาหารฮาลาล เมืองต้นแบบฮาลาล เมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อ.เบตง จ.ยะลา สูงเกินจริง และจัดซื้อวัสดุก่อสร้างตามโครงการดังกล่าวทั้งที่ทราบดีว่า ผู้ขายมิได้เป็นผู้มีอาชีพขายวัสดุก่อสร้างโดยตรง

โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, 2 ไม่มีมูลความผิดอาญาแต่มีความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ผิด ป.อาญา ม.157 และ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ม.123/1 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ป.อาญา ม.151,157 พ.ร.ป.ป.ป.ช. ม.123/1 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4, 5, 7, 8 ผิด ป.อาญา ม.157 พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับในการนำเสนอราคาฯ ม.10, 12 และ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9, 10 ผิด ป.อาญา ม.151, 157 ประกอบ ม.86 พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาฯ ม.10, 12

นายบัณฑิต กล่าวว่า มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหมด 10 ราย โดยกล่าวหาว่าร่วมกันจัดตามราคาวัสดุก่อสร้างโครงการกิจกรรมพัฒนาวัตถุดิบอาหารฮาลาล เมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่นคั้ง ยั่งยืน หลังจากที่จัดจ้างวัสดุก่อสร้างตามโครงการดังกล่าวจากผู้ประกอบการ พฤติกรรมในการกระทำผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากว่าปศุสัตว์จังหวัดยะลามีโครงการส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวอำเภอเบตง ในส่วนของกิจกรรมมีความจำเป็นต้องซื้อวัสดุก่อสร้างเพื่อดำเนินการโครงการ เช่น สังกะสี ตะปู ไม้พรม ไม้แปรรูป ซึ่งใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการ เป็นเงิน 17,200,000 บาท ต่อมาได้มีการตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เซ็นชื่อลงมาแต่งตั้ง โดยแต่งตั้งผู้ถูกกล่าวหาที่ 4-5-6 เป็นคณะกรรมการในการจัดซื้อจัดจ้าง ภายหลังที่ได้รับการแต่งตั้ง คณะกรรมการชุดดังกล่าวนี้ได้ปฏิบัติหน้าที่มิได้เป็นไปตามระเบียบตามสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการได้ไปสืบราคาจากร้านค้าทั่วไปมีทั้งหมด 3 ร้าน 1 ใน 3 เป็นร้านค้าในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ทั้งๆ ในระเบียบกำหนดไว้ราคาจากพาณิชย์จังหวัด แต่บุคคลดังกล่าวคณะกรรมการชุดต่างๆ มิได้กระทำ ปรากฏว่าราคาทั้ง 3 ร้าน มีร้านที่ราคาต่ำสุดคือ ร้านพีเคฟาร์ม ที่มีผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เป็นเจ้าของร้าน ทำราคาของร้านพีเคฟาร์มเป็นกำหนดราคากลาง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้นำเสนอผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ต่อมาได้มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยราคาที่กำหนด เมื่อเหตุดังกล่าวการที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4-5-6 ในฐานะคณะกรรมการกำหนดราคากลาง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7-8 ในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุได้มีส่วนร่วมในการกำหนดราคากลาง เนื่องจากเป็นผู้แนะนำและอยู่ในพื้นที่ด้วย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10 ในฐานะเป็นผู้ขาย ซึ่งปรากฏว่าหลังจากมีการกำหนดราคากลางและมีโรงงานในสัญญาจ้าง โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 10 คือผู้จัดการพีเคฟาร์มได้ไปจัดซื้อวัสดุก่อสร้างจากร้านค้าร้านหนึ่งในจังหวัดยะลา ที่อำเภอเมืองเพื่อมาขายให้ปศุสัตว์จังหวัด จากกรณีดังกล่าวนี้เป็นการจัดซื้อจัดจ้านสูงเกินจริงไปเป็น 2,900,340 บาท

ทั้งนี้ การชี้มูลความผิดครั้งนี้ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ที่ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด.