หลังจากมีรายงานก่อนหน้านี้ ว่าเกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะอันดามัน ประเทศอินเดีย ขนาด 4.0-4.9 ศูนย์กลางห่างจาก จ.ภูเก็ต ประมาณ 400-500 กิโลเมตร ซึ่งรวมแล้วเกิดแผ่นดินไหวไม่ต่ำกว่า 30 ครั้งในรอบ 2 วันที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต รู้สึกหวั่นกลัวว่าจะเกิดสึนามิซ้ำรอยปี 2547 ทั้งนี้ก็มีดราม่าเรื่องทุ่นเตือนสึนามิฝั่งไทยที่เสียไปถึง 2 ตัว ทั้งที่ปักอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว

ทางด้าน นายเสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้โพสต์ผ่าน เฟซบุ๊ก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ชี้แจงเรื่องโอกาสเกิดสึนามิ และสาเหตุที่ทุ่นเตือนใช้การไม่ได้ว่า

          1. แผ่นดินไหวที่จะทำให้เกิดสึนามิตามมาคือมากกว่าขนาด 7.5 Mw

          2. การเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กหลายครั้ง อาจตามมาด้วยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้

          3. แผ่นดินไหวทุกครั้งไม่จำเป็นต้องเกิดสึนามิทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับขนาด ความลึก แนวรอยเลื่อน และลักษณะการมุดตัว

          4. แม้ว่าแผ่นดินไหวจะคาดการณ์ เตือนภัยไม่ได้ แต่เราสามารถคาดการณ์ เตือนภัยสึนามิได้

          5. ระบบเตือนภัยสึนามิโดยใช้ทุ่น มักได้รับความเสียหายบ่อย จึงไม่ใช่ทางออก

          6. ดังนั้นระบบคาดการณ์และเตือนภัยโดยใช้ฐานข้อมูล จึงมีความจำเป็น โดยศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภัยพิบัติ ใช้ระบบนี้เฝ้าระวัง (แต่เราเฝ้าระวังเฉพาะเวลาทำงาน 08.00-17.00 น.) หากเกิดกลางคืน ตัวใครตัวมันนะครับ

          7. ถ้าหากรู้สึกแผ่นดินไหวริมชายฝั่งทะเล ให้รีบขึ้นที่สูง แล้วท่านจะปลอดภัย

ล่าสุด วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ได้เกิดแผ่นดินไหวอีกครั้ง เฟซบุ๊ก ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.ภูเก็ต (ภาคประชาชน) จึงรายงานว่า เวลา 07.26 น. ที่ผ่านมา เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 4.9 ความลึก 10 กิโลเมตร นอกชายฝั่งหมู่เกาะนิโคบาร์ ห่างจากจังหวัดภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 530 กิโลเมตร นับเป็นรอบที่ 32 แล้ว

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวไทยเฟซบุ๊ก ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.ภูเก็ต, รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์