เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้จัดลงมติเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อประณามประเทศรัสเซียต่อกรณีการผนวก 4 ดินแดนยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งในจำนวนสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศนั้น มี 143 ประเทศ ลงมติสนับสนุนข้อมติดังกล่าว ขณะที่ 35 ประเทศงดออกเสียงซึ่งมีไทย ลาว เวียดนาม จีน และอินเดีย รวมอยู่ด้วย
ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่คำชี้แจงของ นายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ถึงเหตุผลของไทยที่งดออกเสียงครั้งนี้ โดยระบุว่า ในฐานะประเทศขนาดเล็กที่มีอำนาจอธิปไตย ประเทศไทยยึดถือกฎบัตรบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นสำคัญเสมือนแนวป้องกันสุดท้าย ไทยยังยึดถือโดยชัดแจ้งต่อหลักการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐต่างๆ ตามหลักของกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทยยึดถือนโยบายมาอย่างยาวนานว่า จะคัดค้านการข่มขู่คุกคามหรือใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐใดรัฐหนึ่งและการใช้กำลังผนวกดินแดนของรัฐอื่นโดยไม่ได้ถูกยั่วยุ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเลือกที่จะงดออกเสียงลงคะแนนต่อข้อมติที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศและมีสถานการณ์ขึ้นลงอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการด้อยค่าต่อโอกาสที่การทูตจะยังผลให้เกิดการเจรจาข้อมติที่สันติและปฏิบัติได้จริงเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งอาจผลักให้โลกไปสู่ความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์และการพังทลายของเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีความห่วงกังวลต่อการแบ่งแยกขั้วทางการเมืองที่สูงขึ้นในหลักการระหว่างประเทศ ทำให้เกิดผลในทางลบต่อวิธีการและแนวทางการยุติสงคราม การประณามนั้นยั่วยุให้เกิดความขัดขืนและลดทอนโอกาสของการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งไทยเสียใจกับการทำลายล้างทางกายภาพ ทางสังคม และทางมนุษยธรรมของยูเครน และความยากลำบากที่รุนแรงซึ่งประชาชนชาวยูเครนต้องทนทุกข์ทรมาน
ไทยจึงต้องการเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายในโศกนาฏกรรมในยูเครนนี้ จะต้องลดความขัดแย้งและความรุนแรง ทั้งพยายามเสาะหาสันติวิธีเพื่อจัดการกับความไม่ลงรอย โดยอิงกับความเป็นจริงที่ปฏิบัติได้และข้อห่วงกังวลจากทุกฝ่าย ความมั่นคงของมนุษย์และสิทธิในการมีชีวิตนั้นเป็นเสาหลักที่สำคัญในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ข้อ3) และถึงทุกวันนี้สิทธิดังกล่าวได้ถูกพรากจากชาวยูเครนและประชาชนอีกหลายล้านคนทั่วโลก จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบสูงสุดขององค์กรที่ได้รับความเคารพสูงสุดแห่งนี้ในการนำสันติภาพและความปกติสุขของชีวิตกลับมาสู่ชาวยูเครน ไม่ใช่โดยการใช้ความรุนแรงแต่ด้วยกลไกทางการทูตเท่านั้นที่จะสามารถนำสันติสุขกลับมาได้จริงและโดยถาวร.