มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจเสมอ ยิ่งรัฐบาลนี้ยิ่งเป็นที่สนใจเนื่องจากทำนโยบายแจกเงินหมื่น ซึ่งจากนี้จะมีนโยบายอะไรอีกบ้าง “นายกฯอิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้คิกออฟเปิดตัวโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารภาคเอกชนเข้าร่วม
นายกฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 67 ได้กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยได้เติมเงินเข้าในระบบถึง 145,552 ล้านบาท (โครงการแจกเงินหมื่น) รัฐบาลได้เก็บเสียงสะท้อนและผลตอบรับจากประชาชนกลุ่มแรกที่ได้รับเงิน เห็นว่าเงินดังกล่าวสามารถฟื้นตัวประชาชนและธุรกิจขึ้นมาได้ รัฐบาลจึงรู้สึกภาคภูมิใจและนำมาคิดต่อว่าเราจะกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ผ่านนโยบายอย่างไรดี และส่งเสริมให้โครงการ 10,000 บาท ฟื้นเศรษฐกิจให้เกิดสิทธิภาพและคุ้มค่ากับภาษีมากที่สุด
“โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เราจะเน้นไปที่ผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งมีถึง 95% ของผู้ประกอบการทั้งหมด จึงถือว่าเป็นส่วนใหญ่และเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทย โดยเราจะพยายามลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส ในระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งโครงการได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา และจะไปสิ้นสุดที่เดือนม.ค. 68 มี 3 ส่วนที่สำคัญ คือ 1. ลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการรายเล็ก อาทิ ลดค่าเช่าร้าน หรือ ลดค่าเช่าแผง 2.การเพิ่มพื้นที่ขายให้ผู้ประกอบการรายเล็ก โดยการสนับสนุนพื้นที่ของส่วนราชการและเอกชน และ 3.การลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ด้วยการจับมือกับผู้ผลิตและผู้ค้าส่งรายใหญ่ เพื่อลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รัฐบาลมั่นใจว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากถึง 110,000 ล้านบาท”
ซึ่งการลงถึงระดับช่วยเอสเอ็มอี เป็นสิ่งที่หลายคนคงถูกใจ เหมือนกับการอัดฉีดไปถึงระดับ “เส้นเลือดฝอย” ส่วนที่ประชาชนคนที่ไม่ได้ทำธุรกิจน่าจะสนใจมาก คือการลดราคาสินค้า จะเอื้อต่อการลดค่าครองชีพอย่างไร
ภายหลังนายกฯอิ๊งค์ เปิดงาน ผู้สื่อข่าวพยายามถามถึงกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯและพรรคเพื่อไทย เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิ์และเสรีภาพอันนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง นายกฯ กล่าวว่า “ ไม่เข้าใจคำถามนักข่าว งง เอ๊ะ! ใครนะ ใครฟ้องนะ”
ภายหลังนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาเปิดเผยและตรวจสอบขาดการประชุม ของ “บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ว่า ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.66 – 19 ก.ย.67 มีการประชุมทั้งหมด 95 ครั้ง แต่ พล.อ.ประวิตร ขาดประชุม 84 ครั้ง
วันที่ 16 ต.ค. เมื่อเวลา 07.40 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เดินทางมายังอาคารรัฐสภา พร้อมด้วยทีมอารักขาส่วนตัว ขึ้นไปบริเวณชั้น 2 หน้าห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อมาเซ็นชื่อและยืนยันตัวตน ก่อนที่จะมีการเปิดประชุมในวันนี้ เวลา 09.00 น.จากนั้น ภายหลังการเซ็นชื่อ พล.อ.ประวิตร ได้ขึ้นรถส่วนตัวออกจากอาคารรัฐสภาไปทันที
นายพร้อมพงศ์ยังเดินหน้าสอบบิ๊กป้อมต่อไป โดยเตรียมจะเปิดหลักฐานบิ๊กป้อมเดินทางด้วยเครื่องบินเอกชนไปต่างประเทศในช่วงประชุมสภา จากนี้ก็ต้องรอดูหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ โดยเฉพาะกรรมการจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎร จะกลายเป็นเสือกระดาษกับระดับบิ๊กหรือไม่
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร แจ้งต่อที่ประชุมถึงการสิ้นสุดสมาชิกภาพ สส. ว่า พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ได้มีหนังสือลาออกจากการเป็นสส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.67 เป็นผลให้สมาชิกภาพ สส. ของพล.อ.พิศาล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (ทำให้ สส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คือ 492 คนองค์ประชุมกึ่งหนึ่งต้องเท่ากับ 246 คน)
ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติประกาศรับรองให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี ภายหลังได้รับเลือกตั้งมาด้วยคะแนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 187,975 คะแนน และไม่ปรากฏหลักฐานว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2567 เป็นไปโดยไม่สุจริต เที่ยงธรรม
“ทีมข่าวการเมือง”