งานครั้งนั้นเป็นการนำเสนอมุมมองใหม่ให้แก่คนในสังคมได้รับทราบว่า ถ้าเราให้โอกาสแก่ผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ พวกเขามีศักยภาพเพียงพอในการทำงาน ไม่หวนคืนสู่เส้นทางที่ไม่ดี และกลับมาเป็นคนปกติในสังคมได้อีกครั้ง ผ่านงานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ

แต่นิทรรศการศิลปะ “ความงามของโอกาส” ครั้งนี้จัดขึ้นโดยสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดแสดงระหว่างการแข่งขันแบดมินตันประเภททีมชายและทีมหญิงชิงแชมป์โลก “โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ บีดับเบิลยูเอฟ โธมัส-อูเบอร์ คัพ ไฟนอลส์ 2022” ระหว่างวันที่ 8-15 พฤษภาคม และ การแข่งขันรายการ “โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ไทยแลนด์ โอเพ่น 2022” ระหว่างวันที่ 17-22 พฤษภาคม ที่อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก (BWF) และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทย “เมย์” รัชนก อินทนนท์, “หมิว” พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ , “ครีม” บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธุ์, “กิ๊ฟ” จงกลพรรณ กิติธรากุล และ “วิว” รวินดา ประจงใจ เยี่ยมชมนิทรรศการ เริ่มจากนักกีฬาได้เห็นผลงานภาพชุด “กีฬาและโอกาส” ที่อยู่หน้างาน หลายคนรีบยกกล้องขึ้นถ่ายรูปบันทึกภาพไว้เมื่อทราบว่าเป็นภาพของตัวเอง ผมถามช่างภาพของสมาคมแบดฯ ว่าดูออกหรือไม่ว่าเป็นใคร ช่างภาพบอกว่าบอกได้ทุกคนเพราะวาดเหมือน

คุณหญิงปัทมาและนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทยได้พูดคุยและสอบถามเทคนิคการวาดจากศิลปะที่เป็นอดีตผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษธนบุรี พวกเขาเคยอยู่กองงานช่างสิบหมู่ มีความถนัดด้านศิลปะเฉพาะทาง เช่น การวาดภาพสีน้ำมัน ภาพสีน้ำ ปั้นนูนต่ำ แกะสลัก ลงรัก เป็นต้น “พี่บิ๊ก” หนึ่งในศิลปินบอกว่า ภาพชุด “กีฬาและโอกาส” เขาร่างดินสอก่อนและเลือกสีน้ำในการวาดรูปนักกีฬาแบดฯ ใช้พู่กันเบอร์ใหญ่และเล็กในการระบายสีและเก็บรายละเอียด มีการฉีดน้ำที่ฉากหลังให้สีฟุ้งๆ เป็นธีมเดียวกันทั้งหมด หลังจากนั้น พี่บิ๊กได้มอบรูปภาพที่เพิ่งวาดเสร็จให้กับ “หมิว” พรปวีณ์ นักกีฬาแบดทีมชาติไทย

หลายคนอาจจะแปลกใจว่า ทำไมถึงมีงานศิลปะมาอยู่ในการแข่งขันกีฬาได้ ผมเคยมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ท่านสนับสนุนเยาวชนที่ก้าวพลาดให้เข้าสู่สโมสรกีฬา BBG (Bounce Be Good) เพื่อให้กีฬานำพาโอกาสที่ดีมาสู่เด็ก ๆ ให้พวกเขาได้เรียนรู้ฝึกฝน จนสามารถเป็นนักกีฬาอาชีพ เช่น ปิงปองหรือแบดมินตัน ไปแข่งสร้างชื่อเสียงให้กับครอบครัวและประเทศชาติได้ นอกจากนี้ ยังมีเด็กอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นนักกีฬา แต่เข้าใจกติกาก็สามารถเดินในเส้นทางของกรรมการได้เช่นกัน เช่น กรรมการผู้ตัดสินและผู้กำกับเส้น ซึ่งเมื่อมีการแข่งขัน กรรมการก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เยาวชนสามารถยึดเป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้กับตนเอง…เมื่อฟังเช่นนี้แล้ว เริ่มหายสงสัย เพราะคำว่า “โอกาส” สามารถสร้างอาชีพและปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนได้ เช่น การเป็นศิลปินผลิตงานศิลปะ หรือนักกีฬาที่ลงแข่งขัน

ในงานนอกเหนืองานภาพสีน้ำของศิลปินผู้พ้นโทษแล้ว ยังมีงานศิลปะจากศิลปินท่านอื่นด้วย อาทิ “โอบกอด โอกาส” โดย คุณอนุชิต คำน้อย (คิ้วต่ำ) ภาพวาดประกอบลายเส้น ผลงานของเจ้าของเพจให้กำลังใจชื่อดัง เพื่อสื่อให้เห็นว่าความผิดพลาดคือสิ่งที่อยู่คู่กับความเป็นมนุษย์และทุกคนสมควรได้โอกาสที่จะเริ่มต้นใหม่ ผลงานของคิ้วต่ำ เป็นงานศิลปะลายเส้นการ์ตูนที่ดูง่าย ให้กำลังใจและเปิดให้โอกาสกับผู้พ้นโทษ “Hourglass” โดย คุณนรรัตน์ ถวัลอนันต์ (Abi) งานสตรีทอาร์ท เปรียบความหวังเป็นดั่งเม็ดทรายในนาฬิกาทราย คุณแอ๊บได้อ่านเรื่องราวจากจดหมายของผู้ต้องขังในเรือนจำ จึงเกิดแรงบันดาลใจวาดภาพนาฬิกาทรายที่ผู้ต้องขังใช้เวลาอยู่ในเรือนจำ เวลาที่ต้องรับโทษค่อย ๆ หมดไป เริ่มมีความหวังพร้อมที่จะออกไป เพื่อที่เขาจะกลับไปเป็นคนใหม่ในสังคม “บทพิสูจน์ชั่วชีวิตของอดีตนักโทษสู่สังคม” โดย คุณสมศักดิ์ เนตรทอง ภาพถ่าย ผลงานจากช่างภาพประจำสำนักข่าว PPTV และกลุ่ม Realframe ที่จะสะท้อนอีกแง่มุมชีวิตหลังพ้นโทษ คุณฟาร์-คุณสมศักดิ์ ได้ติดตามชีวิตของผู้พ้นโทษตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อดูว่า “คุณโบว์” ดำเนินชีวิตในสังคมอย่างไร ตั้งแต่การทำงานขายอาหาร Street Food การหาที่พึ่งทางใจ เช่น การไปโบสถ์ และเป็นที่ปรึกษาให้กับวัยรุ่นแถวบ้าน

ท่านที่สนใจไปชมการแข่งขันแบดมินตันแล้ว ก่อนและหลัง หรือระหว่างพัก แวะมาชมนิทรรศการศิลปะ “ความงามของโอกาส” ได้นะครับ มารับโปสต์การ์ดภาพวาดของนักกีฬาแบดมินตันพร้อมข้อความสร้างแรงบันดาลใจที่สะท้อนถึงบทบาทของกีฬาในการเสริมสร้างกำลังใจ ได้ที่บูธของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ครับ.

………………………………………..
คอลัมน์ : ก้อนเมฆเล่าเรื่อง
โดย “น้าเมฆ”
https://facebook.com/cloudbookfanpage