ในเรื่องนี้ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปชก.ตร.) ให้ข้อมูลว่าไทยมีภูมิยุทธศาสตร์กึ่งกลางภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คั่นกลาง 2 มหาสมุทร คือ อินเดีย และแปซิฟิก ที่เป็นเส้นทางเศรษฐกิจโลก จึงต้องรองรับการเคลื่อนย้ายคนทั่วโลกในฐานะประเทศศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของภูมิภาคด้วย

จุดนี้เองจึงมีความเสี่ยงต่อการเคลื่อนไหวและเป็นแหล่งพำนักของอาชญากรรมข้ามชาติลักษณะต่างๆ ทั้งเรื่องความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจ ที่อาจใช้เป็นพื้นที่ตอบโต้ในรูปของก่ออาชญากรรม การใช้ไทยเป็นพื้นที่วางแผนหรือดำเนินการ เพื่อก่อเหตุในประเทศอื่น เช่น กลุ่ม Cyber crimes  ตลอดจนการประกอบธุรกิจบังหน้า ใช้ไทยเป็นแหล่งฟอกเงิน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทั่วโลกเริ่มเปิดประเทศ รวมถึงไทยที่ปลดล็อกการกักตัวตั้งแต่ 1 พ.ค.65 ทำให้ต้องเริ่มปัดฝุ่นมาตรการรับมือ โดยหลักที่เตรียมไว้ ได้แก่ การข่าว แหล่งข่าวสำคัญมาจากระดับพื้นที่ (area approach) โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน จำเป็นต้องมีความรู้ เข้าใจบริบทและสามารถประสานงานระหว่างพื้นที่ในทุกภูมิภาค

การประสานงาน ตำรวจสันติบาล และกองการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพประสานงานกับหน่วยตำรวจ และหน่วยข่าวกรองระหว่างประเทศ เช่น ตำรวจสากล INTERPOL การสืบสวนปราบปราม เป็นผลจากด้านการข่าว และการประสานงาน นำมาซึ่งการรวบรวมข้อมูลท้องถิ่นโดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนต่างชาติ ต้องติดตาม ตรวจสอบพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยง

การบริหารจัดการการผ่านแดน มอบหมายสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.)รับผิดชอบหลักใช้ระบบจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ (Biometric) ทั้งใบหน้า และลายนิ้วมือ เพื่อเป็นข้อมูลตั้งต้นตั้งแต่ปี 62 ปัจจุบันจัดเก็บไปแล้วเกือบ 30 ล้านราย เป็นประโยชน์ในการยืนยันตัวบุคคล กรณีตกเป็น “คนต้องห้าม”

“เมื่อแฝงตัวเข้าประเทศโดยเปลี่ยนชื่อสกุลใหม่ ก็จะสามารถตรวจพบได้ว่าเป็นบุคคลเดียวกัน หรือการสืบค้นตัวคนต่างชาติจากภาพถ่ายใบหน้า และลายนิ้วมือ จากที่เกิดเหตุ”

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดที่ด่าน ตม.ชายแดนทางบกทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบบุคคล ทะเบียนรถ เทียบกับข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร

สำหรับปัญหาจากคนร้ายข้ามชาติ พล.ต.อ.วิสนุ ระบุ อาชญากรรมข้ามชาติ หมายถึง องค์กรหรือกลุ่มบุคคลที่สมคบ และร่วมมือกระทำผิด ต่อเนื่องจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง หรือหลายประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์และอำนาจที่ขัดต่อหลักกฎหมายและศีลธรรม การที่มีภูมิยุทธศาสตร์เป็นศูนย์กลางภูมิภาค เป็นประเทศที่เปิดรับท่องเที่ยวและการลงทุน จึงเป็นโอกาสแอบแฝงในรูป “นักท่องเที่ยว” ประกอบกับค่าครองชีพที่ไม่สูงมาก จึงมีความเสี่ยงต่อการเคลื่อนไหวของคนร้ายข้ามชาติในลักษณะต่างๆ อาทิ

-การหลบหนีคดีสำคัญ โดยเฉพาะคนในแถบยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ส่วนใหญ่เป็นอดีตแก๊งอาชญากร เช่น มาเฟีย ยาเสพติด ค้ามนุษย์ ฟอกเงิน หรือความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงขนาดใหญ่

-การเข้ามาเพื่อกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อก่อเหตุให้ส่งผลต่อเหยื่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มแอฟริกา และ ประเทศในกลุ่มเอเซียตะวันออก ส่วนใหญ่เป็น แก๊งสแกม ขบวนการค้ามนุษย์ พนันออนไลน์ ขบวนการปลอมแปลงเอกสาร ยาเสพติด

-การเข้ามาเพื่อก่ออาชญากรรมในไทย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเอเชียใต้ และ แอฟริกา เช่น แก๊งเงินดำ แก๊งโรแมนซ์สแกม แก๊งลักทรัพย์ แก๊งฉกเพชรโดยเฉพาะในงานแสดงอัญมณี

ทั้งนี้ จุดสำคัญคืออาชญากรเหล่านี้ อาจมีการกระทำผิดเชื่อมโยงแต่ละประเภท แต่ละขบวนการ สัมพันธ์กันเป็นเครือข่าย ซึ่งสร้างความซับซ้อนในการสืบสวน ติดตาม พอสมควร และด้วยความซับซ้อนทั้งในเชิงพื้นที่ที่คาบเกี่ยวการกระทำผิดหลายประเทศ และเชิงพฤติกรรมที่เชื่อมโยงกลุ่มขบวนการ ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงต้องแข็งแกร่ง

นอกจากทรัพยากรที่สมบูรณ์ และความสะดวกสบายในด้านต่างๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าความปลอดภัยจากเหตุอาชญากรรม  เป็นอีก “จุดแข็ง” ที่ต้องปกป้อง เพื่อคงบรรยากาศการเปิดประเทศถาวร.

ทีมข่าวอาชญากรรมรายงาน

[email protected]