นับเป็นปีแรกที่ทั่วโลกมีการพูดถึงอย่างจริงจังของผลกระทบจาก “บุหรี่” กับ “สิ่งแวดล้อม” ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นก็จะส่งผลย้อนกลับมาทำลายสิ่งมีชีวิตเป็นลูกโซ่อยู่ดี ทั้งภัยจากสารที่มีอยู่ในบุหรี่ ควันบุหรี่มือสอง กระบวนการผลิต และขยะจากบุหรี่ ดังนั้นเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค. 2565 องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดประเด็นรณรงค์คือ “บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม” ขึ้นมาเพื่อหวังให้ทุกประเทศลดผลกระทบจากบุหรี่ในทุกกระบวนการ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากวงแถลงข่าวของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า วงจรของยาสูบทุกขั้นตอนล้วนแต่ทำลายสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว การผลิต การสูบ การทิ้งขยะ โดยต้องถางป่ากว่า 1.25 ล้านไร่ทั่วโลก เพื่อปลูกต้นยาสูบ ต้องใช้นํ้าถึง 3.7 ลิตร ต่อการผลิตบุหรี่ 1 มวน สร้างมลพิษทางอากาศ โดยการผลิตบุหรี่ 1 มวน ต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 14 กรัม หรือปีละเกือบ 84 ล้านเมตริกตัน และควันบุหรี่ยังเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทั้งใน และนอกอาคาร ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ทั่วโลกยังพบขยะจากก้นบุหรี่กว่า 4.5 ล้านชิ้น ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 10 ปีในการย่อยสลาย ขณะที่สารเคมีในก้อนบุหรี่จำนวนมากก็จะปนเปื้อนสู่ดิน และแหล่งนํ้า ทำลายระบบนิเวศไปอีก ยังไม่นับรวมผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรที่ต้องเจ็บป่วยจากโรคพิษใบยาสูบสด (green tobacco sickness) เกิดจากพิษนิโคตินที่ถูกดูดซึมผ่านผิวหนังอีก

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ

 เรื่องนี้ น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ระบุว่า ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่มีประเด็นการรณรงค์เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สสส. โดยแผนควบคุมยาสูบ มุ่งให้ความสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ ถือเป็นเป้าหมายหลักในการทำงานขับเคลื่อนการควบคุมและลดผลกระทบจากบุหรี่ เพื่อคุ้มครองสุขภาพทั้งตัวผู้สูบบุหรี่ และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนพื้นที่รูปธรรมเขตปลอดบุหรี่ตามที่กฎหมายกำหนด คือ 1.โรงเรียนปลอดบุหรี่ 2.สถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ 3.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ 4.สถานประกอบการปลอดบุหรี่ 5.วัดปลอดบุหรี่ 6.ชายหาดปลอดบุหรี่ และ 7.การขับเคลื่อนและผลักดันพื้นที่ปลอดควันบุหรี่ในอาคารชุด คอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ เพื่อให้คนไทยมีอากาศบริสุทธิ์ได้หายใจ

ทั้งนี้ แม้การดำเนินงานควบคุมยาสูบของไทยมีความก้าวหน้า แต่อัตราการสูบบุหรี่ยังคงสูง ซึ่งผลการสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบคนไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน คิดเป็น 17.4% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ผู้ชายสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิงถึง 20 เท่า แม้ผู้สูบบุหรี่จะมีแนวโน้มที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีผู้สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน แต่ยังบรรลุตามเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2565-2570) ที่กำหนดลดคนสูบบุหรี่ในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 14% ภายในปี 2570 รวมถึงเป้าหมายการลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Global NCDs Target) ที่กำหนดให้มีผู้สูบบุหรี่ไม่เกิน 15% ภายในปี 2568

สำหรับการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายลดคนสูบบุหรี่ สสส. ซึ่งเป็นหนึ่งใน 34 หน่วยงานของคณะกรรมการตามแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบ ได้แก่
1.สนับสนุนกลไกและหน่วยงานต่าง ๆ ให้ดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ มุ่งผลักดันให้กลไกการดำเนินงานควบคุมยาสูบในระดับจังหวัดมีความเข้มแข็ง
2.จัดทำข้อมูลความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านยาสูบ โดยเฉพาะประเด็น Hot Issue เช่น ประเด็นบุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้ากับโรคโควิด-19 การปลูกพืชทดแทนใบยาสูบ

3.พัฒนาและสนับสนุนการสื่อสารสาธารณะ สนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการ กฎหมาย และสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคยาสูบ
4.ปกป้องการได้รับควันบุหรี่มือสองและมือสาม รวมถึงการรณรงค์บ้านและครอบครัวปลอดบุหรี่
5.พัฒนาและขยายเครือข่ายนักรณรงค์ในระดับพื้นที่ ผ่านท้องถิ่น (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) และชุมชน รวมทั้งสื่อมวลชนท้องถิ่น“สิ่งที่ สสส. มุ่งมั่นทำงานขับเคลื่อนและรณรงค์ให้สังคมไทยปลดควันบุหรี่มาตลอด 20 ปี ด้วยอยากเห็นว่า อนาคตสังคมไทยเป็นสังคมปลอดบุหรี่ได้ หากทุกคนช่วยกัน เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ให้ความสำคัญกับการมีอากาศบริสุทธิ์ได้หายใจและไม่ทำลายสุขภาพ สสส. เห็นคุณค่าของทุกคน เราไม่ควรทำร้ายกันด้วยควันบุหรี่”

คอลัมน์     :  คุณหมอขอบอก
เขียนโดย  :  อภิวรรณ เสาเวียง