ปัจจุบัน พบการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเห็นได้จากการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของบุหรี่ไฟฟ้าที่เลียนแบบของเล่นเด็ก ของใช้หรือของกินที่เด็กและเยาวชนนิยมหรือคุ้นเคย รวมถึงการใส่สารปรุงแต่งกลิ่น และรสชาติในบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อดึงดูดความสนใจให้อยากทดลองและใช้บุหรี่ไฟฟ้า ตลอดทั้งการสร้างการรับรู้ที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งทำให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อจากกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย” นพ. ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุโดยอ้างอิงข้อมูลจากกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังบอกด้วยว่า เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้เป็นเหยื่อธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า จึงมี 4 วิธีสำหรับพ่อแม่ที่จะใช้สังเกตลูก ๆ หลาน ๆ ที่อาจมีการใช้หรือสูบบุหรี่ไฟฟ้า

1.มีกลิ่นหอมติดตัวโดยหาต้นตอของกลิ่นไม่ได้

2.ใช้เงินมากขึ้นกว่าปกติ หรือซื้อของที่ไม่สามารถบอกได้ว่าคืออะไร

3.พบผลิต ภัณฑ์ หรืออุปกรณ์การเรียนที่ไม่คุ้นเคยในกระเป๋าหรือในห้องนอน เช่น ปากกา หรือแฟลชไดร์ฟ

4. สังเกตอาการผิดปกติของบุตรหลาน เช่น ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน รวมถึงอาการกระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย อารมณ์ฉุนเฉียว ซึ่งเป็นผลมาจากการติดนิโคติน

นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังควรเฝ้าระวัง พูดคุยแนะนำ หรือให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เด็ก เยาวชนเกี่ยวกับโทษพิษภัย อันตราย และผลกระทบของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นการสร้างเกราะป้องกันตนเองจากบุหรี่ไฟฟ้า และเป็นต้นแบบที่ดี สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนในครอบครัว ด้วยการไม่สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าในบ้าน เป็นต้น

ทางด้าน “ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ” ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ยังได้เปิดเผยข้อมูลด้วยว่า การที่เด็ก เยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีโอกาส มาก ๆ ที่จะทำมีการใช้สารเสพติดชนิดที่รุนแรงขึ้น เห็นได้จากข้อมูลในสหรัฐอเมริกา พบวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีการใช้ยาเสพติดตัวอื่นเพิ่มขึ้น ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

ส่วน การสำรวจในประเทศไทยที่วิเคราะห์ข้อมูลปี พ.ศ.2562 ในนักเรียน ม.3 ถึง ม.5 จำนวน 6 พันกว่าคน พบว่า ในนักเรียนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 72% มีการใช้สิ่งเสพติดอื่น ๆ เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่มวน กัญชา และมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า

การสำรวจโดยสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ในเด็กไทย 300 คนที่ทำผิดคดียาเสพติด 95% สูบบุหรี่มวน และ 79% สูบบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนใหญ่เริ่มสูบบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้ามาก่อน

สารนิโคติน จะมีผลกระทบต่อสมองของเด็กและวัยรุ่นอย่างมาก เนื่องจากเป็นวัยที่สมองกำลังมีการพัฒนา แต่นิโคตินจะเข้าไปทำให้สมอง เกิดความพร้อมที่จะรับยาเสพติดตัวอื่น ๆ”.

อภิวรรณ เสาเวียง