วิกฤติโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่งผลให้ผู้คนล้มป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังสร้างหายนะทางเศรษฐกิจในระดับใหญ่หลวง อย่างไรก็ตาม มีภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมหนึ่งที่ไม่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่แค่เพียงเอาตัวรอดได้ท่ามกลางวิกฤติการณ์เช่นนี้ ทว่ามีแต่จะยิ่งกอบโกยรายได้และผลกำไรมากขึ้นเท่านั้น นั่นคือบรรดาบริษัทผลิตยา ซึ่งต่างมองสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “คือโอกาสทางธุรกิจครั้งยิ่งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นครั้งเดียวในชีวิต”

แน่นอนในภาวะวิกฤติเช่นนี้ โลกต้องการยาและต้องการวัคซีนซึ่งมีประสิทธิภาพ ในปริมาณที่มากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และต้องแจกจ่ายให้ได้เร็วที่สุดด้วย บรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทุกแห่งบนโลกต่างเร่งมือพัฒนา ผลิต และเสนอขายผลิตภัณฑ์ของตัวเอง แม้โรคโควิด-19 เป็นวิกฤติด้านสาธารณสุขระดับโลก และประชาชนถือว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทยา “คือผู้รักษาชีวิต” แต่ในสายตาของนายทุนผู้ผลิตแล้ว “ยิ่งสถานการณ์เลวร้ายเท่าไหร่ นั่นหมายถึงรายได้และกำไรเป็นกอบเป็นกำมากขึ้นเท่านั้น”

ข้อมูลจากเว็บไซต์ opensecrets.org ซึ่งเป็นศูนย์ตอบสนองทางการเมือง ที่เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระของสหรัฐ ระบุว่าในช่วงระยะเวลาเพียง 3 เดือนแรกของปีนี้ บรรดาบริษัทยาแถวหน้าของอเมริกา ใช้เงินรวมกันไปแล้วมากกว่า 92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 2,876.38 ล้านบาท ) เพื่อล็อบบี้รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในด้านการบริหารจัดการนโยบายที่เกี่ยวข้อง นับเป็นเม็ดเงินที่สูงกว่าธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน

DW News

จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ที่ผู้บริหารของบริษัทยาหลายแห่งซึ่งกำลังขับเคี่ยวกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และโนวาแวกซ์ ตลอดจนบริษัทอีกหลายแห่ง พร้อมใจกันออกมาตำหนิผู้นำสหรัฐอย่างเปิดเผย กรณีไบเดน “อ้อมแอ้มแสดงน้ำใจ” ตามการเรียกร้องของอินเดีย และแอฟริกาใต้ เสนอให้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมด้านนี้ ร่วมกันสนับสนุนการผ่อนคลายเงื่อนไขและข้อจำกัดบางประการ ในด้านการผลิตยารักษาและวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตลอดจนกรรมวิธีการรักษาที่เกี่ยวข้อง แต่นายทุนในอุตสาหกรรมยาของสหรัฐซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมองว่า จะเป็นการ “ป้อนอ้อยเข้าปากช้าง” นั่นคือจีนและรัสเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ

DW News

ไม่ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังที่ทำให้ไบเดนออกมาพูดแบบนั้นจะเป็นเพราะอะไรก็แล้วแต่ เครือข่ายบริษัทยาของสหรัฐนั้นแม้จะแข่งขันกันเอง แต่ก็มีเครือข่ายโยงใยที่แน่นแฟ้นในระดับมั่นคงที่จะช่วยรักษาผลประโยชน์ให้กันและกัน เงื่อนไขเกี่ยวกับสิทธิบัตรซึ่งผู้นำสหรัฐคนปัจจุบันเสนอให้มีการ “ผ่อนคลายบ้าง” เป็นเรื่องที่ต้องย้อนกลับไปถึงการหารือระหว่างประเทศที่เรียกว่า “การเจรจารอบอุรุกวัย” ซึ่งเกิดขึ้นเป็นรอบ ครอบคลุมระหว่างปี 2529-2536

ในการบรรลุข้อตกลงสำคัญร่วมกันหลายเรื่องของที่ประชุมในเวลานั้น ที่ตัวแทนจากบริษัทยา “ได้ที่นั่งแถวหน้า” รวมถึงพื้นฐานของข้อกำหนดสิทธิบัตรยาในปัจจุบัน และเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญว่า เพราะเหตุใดราคายาในสหรัฐ “จึงแพงหูฉี่” เพราะกลายเป็นว่า รัฐบาลกลาง “ไม่มีอำนาจและอิทธิพลมากพอ” ที่จะควบคุมราคาของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จึงจำเป็นต้องเลี่ยงไปให้น้ำหนักกับการบัญญัติกฎหมายด้านความปลอดภัยในการใช้ยาแทน ห่วงโซ่อุปทานของเภสัชกรรมทั้งหมดในสหรัฐ อยู่ภายในอุ้งมือของบรรดานายทุนอย่างเบ็ดเสร็จ

โครงการโคแวกซ์ส่งมอบวัคซีนของแอสตราเซเนกา/ออกซฟอร์ด ถึงท่าอากาศยานนานาชาติคาร์ทูม ในซูดาน

ปัจจุบันประมาณ 44% ของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีการกระจายไปแล้วบนโลก กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป แต่บรรดาประเทศยากจนแทบทั้งทวีปแอฟริกายังฉีดวัคซีนให้กับประชากระในประเทศได้ไม่ถึง 1% โดยบางประเทศอาจยังทำได้น้อยกว่านั้น หลายประเทศในทวีปเอเชียและทวีปอเมริกาใต้กำลังเผชิญกับ “การฟื้นคืนชีพ” ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ยังมีการกลายพันธุ์ซ้ำซ้อนมากขึ้นไปอีก และเชื้อโรคยังคงเดินทางไปทั่วทุกมุมโลกโดยมีมนุษย์เองที่เป็นพาหะหลัก

แน่นอนว่าสำหรับกลุ่มทุนไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ผลประโยชน์เป็นเรื่องสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด แต่ในวิกฤติการณ์ด้านสาธารณสุขครั้งนี้ที่ยังคาดเดาได้ยากว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางไหน เป็นข้อบ่งชี้ได้อย่างหนึ่งว่า การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่สามารถเป็นสิ่งที่บรรดาบริษัทยาควบคุมได้เองเพียงฝ่ายเดียว.


ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES