โดยเฉพาะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังมีรายงานเมียนมา ประหารชีวิต 4 นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยไปเมื่อเร็วๆ นี้ ไล่เลี่ยกันไม่นานญี่ปุ่น มีรายงานการประหารชีวิตนักโทษ 1 ราย ที่ก่อเหตุรุนแรงกลางถนนย่านอากิฮาบาระ กรุงโตเกียว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน เมื่อปี 2551

กลายเป็นกระแสถกเถียงการลงโทษด้วยวิธีดังกล่าวอีกครั้ง…

แน่นอนว่าด้วยสัดส่วน 108 ประเทศทั่วโลก ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณี และ 144 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ ตามการอ้างอิง รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2564 ของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล การที่ประเทศไทยยังเป็น 1 ใน 55 ประเทศที่คงใช้โทษประหารชีวิต สะท้อนนัยล่อเป้าถูกประณามว่าล้าหลัง เพราะประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มยกเลิกการลงโทษด้วยวิธีการนี้แล้ว ด้วยเหตุผลหลายข้อ

ทั้งขัดหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การละเมิดสิทธิมนุษยธรรมระหว่างประเทศ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีความเสี่ยงผิดพลาด เลือกปฏิบัติ นักโทษประหารชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนยากจน เข้าไม่ถึงสิทธิการต่อสู้คดีเพราะสถานะทางการเงิน ข้อห่วงใยการใช้เป็นเครื่องมือขจัดกันทางการเมือง ไปจนถึงเหตุผลที่หยิบยกมาพูดถึงกันบ่อยครั้งคือ การไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าการลงโทษด้วยวิธีประหารสามารถลดการเกิดอาชญากรรมได้จริง

ดังนั้น ไม่แปลกที่ทั่วโลกต่างจับจ้องถึงเหตุและผลการใช้ในบางประเทศมากเป็นพิเศษ 

ย้อนกลับถึงสถานะโทษประหารชีวิตในประเทศไทย กว่า 10 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าไม่ได้ปฏิเสธ หรือตอบรับชัดเจนทันทีต่อเวทีสากล เรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิต เพราะยังคงยึดหลักการ “ค่อยเป็นค่อยไป” โดยยังมีขั้นตอนกฎหมายให้นักโทษเด็ดขาดประหารชีวิต มีสิทธิยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ ขณะเดียวกันมีการแก้ไขกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 ห้ามประหารชีวิตเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี (ในขณะกระทำความผิด) และห้ามลงโทษประหารชีวิตในหญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงเพิ่งคลอดบุตร หรือบุคคลวิกลจริต ซึ่งเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Convenant on Civil and Political Rights : ICCPR)

จุดเปลี่ยนท่าทีสำคัญของประเทศไทยในเรื่องดังกล่าวขยับมานานเกิน 10 ปี จับสัญญาณได้ตั้งแต่การ ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 65 ที่เริ่มจาก “งดออกเสียง” มติพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ จากเดิมเคยลงมติ “คัดค้าน” ทั้งในการประชุมเมื่อ 2550 และปี 2551

หากเปรียบเทียบเฉพาะแถบอาเซียน 10 ประเทศ กลุ่มที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท คือ กัมพูชาและฟิลิปปินส์ กลุ่มที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (ยังคงโทษประหารชีวิตตามกฎหมาย แต่ไม่มีการประหารภายใน 10 ปี หรือมากกว่า) คือ ลาว และบรูไน และกลุ่มที่ยังคงมีการใช้โทษประหารชีวิตอยู่ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และเมียนมา

อย่างไรก็ตาม แม้ปลายทางจะยังไม่ชัดว่าประเทศไทยจะไปถึงขั้นยกเลิกโทษประหารชีวิตหรือไม่ แต่นับตั้งแต่แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 2 (ปี 2552-2556) ก็เริ่มระบุแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโดยกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ที่มีเป้าหมายนำเสนอการพิจารณายกเลิดอัตราโทษประหารชีวิตตามกฎหมายเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต ต่อเนื่องถึงแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (ปี 2557-2561) ก่อนที่ต่อมาจะเริ่มมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพราะยังคงเป็นประเด็นละเอียดอ่อนต่อการทำความเข้าใจอยู่จนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 17 มิ.ย. มีนักโทษประหารชีวิตอยู่ 199 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังระหว่างการอุทธรณ์ 172 คน ระหว่างพิจารณาฎีกา 15 คน และเป็นนักโทษเด็ดขาดคดีถึงที่สุดแล้ว 12 คน เฉพาะนักโทษเด็ดขาด เป็นคดียาเสพติด 5 คน และคดีความผิดทั่วไป 7 คน

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเกือบขยับไปไกลขึ้น เนื่องจากในห้วงเวลาต่อเนื่องกว่า 9 ปี นับจากการประหารชีวิต 2 นักโทษชาย คดียาเสพติดเมื่อปี 2552 ทำให้อีกเพียง 1 ปี หากไม่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้น จะถือว่าประเทศไทย “ยกเลิกโทษประหารในทางปฏิบัติ” แต่ในปี 2561 เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. มีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตอีกครั้ง กับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ชาย 1 ราย ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยยังกลับมาค่อยเป็นค่อยไป…อีกครั้ง.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]