เป็นที่คาดการณ์กันว่าในวันที่ 10 ส.ค.นี้ แบงก์ชาติโดยคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 0.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นในรอบเกือบ 4 ปี

เหตุผลของการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้!! ก็เพื่อลดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อที่ยังทะยานสูงขึ้น จากวิกฤติราคาพลังงานที่ยังคงแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้การขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ “ต้นทุน” ของคนไทยทุกคน แต่การที่ “เงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น” ก็ทำให้เราต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มมากขึ้นในการซื้อสินค้าและบริการ

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค. 65 สูงขึ้น 7.61% ขณะที่เงินเฟ้อโดยรวม 7 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค. เพิ่มขึ้น 5.89% แถมยังปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 65 เพิ่มเป็น 6% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 4.5%

นั่น!! หมายความว่า…ประชาชนคนไทย ต้องควักเงินในการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 6%

“เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย ย่อมส่งผลทำให้ต้นทุนประชาชนเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่หากไม่ทำอะไร!! ยิ่งกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น

แต่!! การขึ้นดอกเบี้ยมีผลกระทบน้อยกว่า ผลกระทบจากต้นทุนเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต่างกันถึง 7 เท่า

เอาเป็นว่า กนง.จะหักปากกาเซียนหรือไม่? ก็คงต้องรอดูมติกันต่อไป

ที่แน่ ๆ คนที่เป็น “หนี้” ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม แม้ว่าการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. จะไม่ได้ทำให้ทุกแบงก์ ทุกสถาบันการเงินขึ้นดอกเบี้ยทันทีเลยก็ตาม

ที่ผ่านมา สถาบันการเงิน ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้า ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสร้ายโควิด ทั้งลดดอกเบี้ย พักชำระหนี้ พักดอกเบี้ย ยืดเวลาชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ หรือการรวมหนี้

ในเมื่อทิศทางของดอกเบี้ย อยู่ในช่วงขาขึ้น ดังนั้น!! จึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ ว่าต้นทุนของการกู้เงิน ย่อมมีภาระเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ประกอบอาชีพ ครู ที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าปัญหาเรื่อง หนี้ครูนั้นมีมาอย่างยาวนาน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามแก้ไขปัญหาจนลดน้อยถอยลงไป

ปัจจุบันครู 9 แสนคนทั่วประเทศ หรือประมาณ 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวน 8.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 64%

รองลงมา คือ ธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 25% ที่เหลือเป็นหนี้กับ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสถาบันการเงินอื่น ๆ

ขณะนี้มีครูและบุคลากรทางการศึกษาลงทะเบียน “โครงการแก้หนี้ครู” แล้วกว่า 41,000 ราย ในจำนวนนี้มีปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คือ การลดดอกเบี้ยเงินกู้กว่า 30,000 ราย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเดือดร้อนจากการเป็นผู้ค้ำประกัน การขอปรับโครงสร้างหนี้ และการถูกดำเนินคดี ที่ไม่สามารถจะจ่ายหนี้ได้

แม้ทุกวันนี้ทุกฝ่ายได้พยายามช่วยให้คุณครูหลุดพ้นจากความเป็นหนี้ให้มากที่สุด ให้เร็วที่สุด แต่แนวโน้มดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาใหญ่ คงหนีไม่พ้นว่า ดอกเบี้ยของหนี้ครูจะปรับเพิ่มขึ้นไปด้วยหรือไม่?

อย่าลืมว่า…ทุกวันนี้ทุกอย่างแพงขึ้นเหมือนกันหมด ยกเว้น “เงินในกระเป๋า” ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ดังนั้น ต่อให้มีโครงการช่วยเหลือ แต่ทุกคนที่เป็นหนี้ย่อมต้องมี “ความเสี่ยง” เพิ่มมากขึ้น จากต้นทุนใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

ต่อให้ “ธนาคารออมสิน” ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในโครงการแก้หนี้ครู จะเล็งขยายโครงการไปจนถึงสิ้นปี หลังจากสิ้นสุดมาตรการไปเมื่อ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้มีครูและบุคคลากรทางการศึกษา ที่เข้าร่วมโครงการ 3.5 แสนคน มูลหนี้รวม 3.5-3.7 แสนล้านบาท เฉลี่ยแล้วมีหนี้คนละประมาณ 1 ล้านบาท และในจำนวนนี้ยังเหลือหนี้ที่เป็นคุณภาพไม่ดีประมาณ 4.4%

แต่การขยายโครงการช่วยเหลือครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าออมสินจะช่วยเหลือแบบเหมารวม เหมือนที่ผ่านมาอีก แต่เน้นไปที่ลูกหนี้ที่มีปัญหา ที่ต้องมาพูดคุย มาหารือ มาปรึกษา เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการปรับโครสร้างหนี้

อย่างที่รู้กัน การขยายโครงการแก้หนี้นั้น ไม่ใช่แค่หนี้คุณครูหรือบุคลากรทางการศึกษา เท่านั้น แต่หมายถึง ลูกหนี้ทุกคนหากช่วยเหลือกันนานเกินไปก็อาจทำให้เกิดการเสียวินัยการเงิน จนกลายเป็นอันตรายทางศีลธรรม หรือโมรัล ฮาซาร์ด

สุดท้าย… ก็จะเจ๊งกันเป็นลูกระนาด หนทางที่ดีที่สุดในเวลานี้ การเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อหาทางออก จึงเป็นสิ่งที่ลูกหนี้ทุกคนควรทำ!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”…