หลัง พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ประกาศราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 5 ก.ย.นี้ เป็นต้นไป ประเด็นหลักที่ถูกจับตาและพูดถึงกันเป็นที่กว้างขวางคือ มาตรา 123 ที่ระบุให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัดนิรภัย โดยเฉพาะเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องมีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (คาร์ซีท) หรือที่นั่งในที่พิเศษ เพื่อป้องกันอันตราย ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 2,000 บาท

อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่ยังมีอีกประเด็นถูกปรับแก้ไข เพื่อวินัยบนท้องถนนที่ควรศึกษา เตรียมตัว เพื่อเลี่ยงการกระทำผิด อาทิ

มาตรา 35 เป็นการกำหนดน้ำหนักรถที่ยกเว้นให้วิ่งช่องทางด้านขวา และข้อยกเว้นให้รถบางประเภทวิ่งช่องทางด้านขวาได้ เช่น เดิมรถบรรทุก รถโดยสาร รถ จยย. ต้องวิ่งชิดขอบทางซ้ายอย่างเดียว มีการแก้ไข อาทิ หากเลี้ยวเข้าช่องทางที่ถูกต้องเมื่อใกล้ทางร่วม ทางแยก หรือจะแซง ถือเป็นเหตุที่จะวิ่งในช่องทางไม่ชิดขอบซ้ายได้

มาตรา 43 กำหนดลักษณะการขับรถโดยไม่คํานึงถึงความปลอดภัยผู้อื่นอย่างชัดเจนมากขึ้น และเพิ่มโทษจากเดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000-10,000 บาท เป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 123/1, 123/3 กำหนดการโดยสารรถที่ไม่สามารถติดตั้งเข็มขัดฯได้ อย่างรถบรรทุกคนโดยสาร เช่น รถสองแถว บังคับผู้นั่งคู่คนขับตอนหน้าต้องรัดเข็มขัดฯตลอด กำหนดจำนวนผู้โดยสาร ความเร็ว ส่วนรถยนต์สาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ คนต้องขับแจ้งเตือนผู้โดยสารรัดเข็มขัดฯ หรือแจ้งเตือนในรูปแบบต่างๆ

มาตรา 134, 134/1, 134/2 และ 160 เบญจ กำหนดความผิดเกี่ยวกับการแข่งรถ มีการแก้ไขใหม่ เช่น การรวมกลุ่มหรือมั่วสุมใกล้กับทางตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป นัดหมายกันเพื่อแข่ง ดัดแปลง/แต่งรถ หรือมีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งให้เห็นว่าจะมีการแข่งรถ ให้ถือเป็นการพยายามแข่งสามารถจับกุมได้ทันที

มีข้อกำหนดให้ผู้จัด โฆษณา ประกาศชักชวน หรือวิธีใดๆนัดหมายแข่งรถให้มีความผิด ขณะที่ผู้ดัดแปลง/แต่งรถให้มีสภาพไม่ถูกต้อง จะได้รับหรือไม่ได้รับค่าตอบแทน หากรถถูกนำไปแข่งถือเป็นผู้สนับสนุน กรณีผู้กระทำผิดอายุไม่เกิน 20 ปี ให้ศาลวางข้อกำหนดหรือทำทัณฑ์บนผู้ปกครอง

มาตรา 43 ทวิ/1 และ 142 การตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดและสารเสพติดในร่างกายผู้ขับขี่ เดิมต้องได้รับการยินยอม แก้ไขเป็นให้อำนาจพนักงานสอบสวนสามารถร้องขอแพทย์โดยไม่ต้องรอความยินยอม

มาตรา 143, 143/1, 143/2 การสั่งห้ามใช้รถและการตรวจสภาพรถ เช่น รถควันดำ จะกำหนดรายละเอียดคำสั่งห้ามใช้ เดิมเป็นอำนาจขนส่งเพียงหน่วยเดียว แก้เป็นให้อำนาจตำรวจด้วย กรณีฝ่าฝืนระหว่างพักใช้ใบอนุญาต จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

มาตรา 160 ความผิดในลักษณะอุบัติเหตุมีการเพิ่มโทษผู้ชนแล้วหนี กรณีมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต ให้ศาลเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนด (ป้องปรามคนชนแล้วหนี หรือไม่ให้การช่วยเหลือ)

มาตรา 160 ทวิ/1 ความผิดผู้ขับขี่ที่ไม่ได้รับใบอนุญาต และประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต ให้ศาลเพิ่มโทษได้อีกกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลง

มาตรา 160 ตรี, 160ตรี/1, 160ตรี/2, 160ตรี/3 เพิ่มโทษข้อหาขับรถขณะเมาสุรา เน้นทำผิดซ้ำ โดยภายใน 2 ปี จากความผิดครั้งแรก หากผิดซ้ำโทษจะหนักขึ้นจากเดิมครั้งแรกจำคุกไม่เกิน 1 ปี เป็นโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับด้วยเสมอ โดยค่าปรับกรณีผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับคือ 50,000-100,000 บาท ในกรณีรถทั่วไป

หากผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะผิดซ้ำ ต้องรับโทษสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดอีก 1 ใน 3 ส่วนผู้ไม่มีใบอนุญาตขับขี่และไปขับขี่รถโดยสารสาธารณะจะถูกเพิ่มโทษอีก 1 ใน 3 เช่นกัน

นอกจากนี้ ภาพรวมอัตราค่าปรับความผิดลหุโทษ ยังแก้ไขค่าปรับให้สูงขึ้น หากอัตราเดิมปรับไม่เกิน 200 บาท แก้ไขใหม่ไม่เกิน 500 บาท, อัตราเดิมปรับไม่เกิน 500 บาท แก้ไขใหม่ไม่เกิน 1,000 บาท และอัตราเดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาท แก้ไขใหม่ไม่เกิน 4,000 บาท.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]