การคาดการณ์ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค. ที่ชี้แจงต่อประชาชนคนทั้งประเทศ ถึงจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และจำนวนผู้เสียชีวิต ในช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้ ไปจนถึงต้นเดือนหน้า น่าจะเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ต้อง “คิดหนัก”

จากการคาดการณ์ระบุว่า หาก ศบค.ไม่มีการล็อกดาวน์ใด ๆ เกิดขึ้นจะทำให้มีผู้ติดเชื้อวันละ 60,000-70,000 คน และมีผู้เสียชีวิตวันละกว่า 800 คน แต่ถ้าล็อกดาวน์แบบมีประสิทธิภาพ 20% เหมือนที่ทำอยู่ในเวลานี้ จะมีผู้ติดเชื้อราว 45,000 คน และมีผู้เสียชีวิตประมาณวันละ 500 คน

แต่ถ้า ศบค.ตัดสินใจให้เข้มงวดมากขึ้น โดยล็อกดาวน์อย่างมีประสิทธิภาพ 25% นาน 2 เดือน และ เร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ กลุ่มเป้าหมาย 7 โรคเรื้องรัง รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ จะทำให้มีผู้ติดเชื้อประมาณวันละ 20,000 คน และเสียชีวิตต่ำกว่า 200 คน

เพราะ… ตามข้อมูลของฝ่ายวิชาการ!! ฝ่ายคนไทยแพทย์!! นั่นหมายถึง “ชีวิต” ของประชาชนทั้งประเทศ!!

ขณะที่ภาคเอกชนทั้ง 3 สถาบัน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ที่เปรียบเสมือนตัวแทนภาคเอกชน ภาคธุรกิจทั้งประเทศ ต่างคัดค้านการล็อกดาวน์ในทุกรูปแบบต่อไปอีก

เหตุผลสำคัญ…ที่ภาคเอกชนหยิบยกพร้อมชี้ให้เห็นว่า หากรัฐบาลตัดสินใจล็อกดาวน์ประเทศไปจนถึงสิ้นเดือนก.ย.นี้ จะทำให้เศรษฐกิจพังพินาศไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท เพราะตั้งแต่ต้นปีมาจนถึง ณ เวลา นี้ ก็เสียหายไปแล้ว 5-8 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกันก็มีเสียงเรียกร้องจากฝั่งเอกชนให้ผ่อนคลายในบางธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ให้เปิดกิจการในห้าง ในศูนย์การค้าได้ ทั้งธนาคาร ธุรกิจสื่อสาร-ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ด

ข้างหนึ่งก็ “ชีวิต” ข้างหนึ่งก็ “เศรษฐกิจ” ที่มีผลต่อชีวิตของคนทั้งประเทศ ข้อมูลจากทั้งสองข้าง ศบค.จะมองอย่างไร? จะตัดสินใจอย่างไร? ที่จะชั่งน้ำหนักให้พอดีให้อยู่ตรงกลาง และ “นำพา” ให้ชาติไทยรอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้อย่างดีที่สุด

นี่!! ยังไม่รวมความ “เอือมระอา” ของพี่น้องคนไทย ที่กำลังหมดศรัทธาในการบริหาร การจัดการ แก้ดูแลแก้ปัญหา ผู้ที่ติดเชื้อ ผู้ที่เสียชีวิตจากไวรัสร้าย

เท่านี้ยังไม่พอ!! ยังรวมถึงการบริหารจัดการวัคซีน ที่ไม่ทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นเข็มแรกที่ฉีดให้พี่น้องคนไทยทั้งประเทศ หรือ เข็ม 3 ที่เป็นบูสเตอร์ ให้กับบรรดาผู้ที่อยู่ด่านหน้า อย่างหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องพบเจอ ดูแลผู้ป่วยผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด ที่ก็ยังอุตส่าห์มีการ “สวมสิทธิ” จากบรรดา “วีวีวีไอพี” ทั้งหลาย

ส่วนฝ่าย คิดต่าง” ที่ออกมาป่วนเมืองอยู่ในเวลานี้ในรูปแบบของ “ทอมแอนด์เจอร์รี่” ก็เป็นอีกหนึ่งของเกมการเมือง ที่เห็นจังหวะ เห็นโอกาส ก็รีบ “ฉวย” โดยไม่คำนึงถึง โรคร้าย” ที่เค้าสะพรึงกลัวกันทั่วประเทศ

ณ เวลานี้ ประเทศไทยใช้มาตรการล็อกดาวน์มาแล้วกว่า 1 เดือน และหากจำกันได้ก่อนหน้านี้ทาง ศบค. เองก็ประกาศเปิดทางไว้อยู่แล้วว่าหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็ต้องขยายการล็อกดาวน์ไปจนถึงสิ้นเดือน ส.ค.นี้

ดังนั้น เชื่อได้เลยว่า ในการประชุม ศบค.วันที่ 16 ส.ค. 64 นี้ โอกาสของการขยายเวลาล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดใน 29 จังหวัด ไปจนถึงสิ้นเดือน ส.ค.นี้ เป็นไปได้สูงแน่นอน

แต่ปัญหา แต่คำถาม อยู่ที่ว่า… การใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์” ในช่วงที่ผ่านมานั้น ประสบความสำเร็จจริงหรือไม่? เพราะตลอดเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิต ยังมีมากขึ้นทุกวัน

หากนำตัวเลขการคาดการณ์ของ ศบค. มาพิจารณาประกอบเพิ่มเติม แล้ว!! จะต้องทำอย่างไร? ต่อไป เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น การล็อกดาวน์ 25% ด้วยการเข้มงวดอย่างเต็มที่ งดการเดินทางไปพบปะ การดูแลตัวเองอย่างเข้มข้น จะทำให้ตัวเลขการติดเชื้อลดลงได้จริงหรือ?

แต่หากเรื่องของการฉีดวัคซีน ยังทำไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าหมาย การตรวจหาเชื้อยังไม่สามารถทำได้ทุกกลุ่ม ทุกชุมชน การเข้าถึงเตียง เข้าถึงการดูแลการรักษา ยังทำไม่ได้ครบ 100% ต่อให้เพิ่มการล็อกดาวน์ เชื่อเถอะตัวเลขของผู้ติดเชื้อก็ยังคงมีให้เห็น

ที่สำคัญ!! หากการติดเชื้อยังลุกลามต่อไปเรื่อย ๆ ลามไปจนถึงภาคการผลิตไปเรื่อย ๆ จะยิ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะนั่นหมายถึงสินค้าที่ผลิตเพื่อใช้บริโภคอุปโภคในประเทศ ก็มีโอกาสเสี่ยงขาดแคลน ขณะที่สินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกก็จะหดหาย และทำให้รายได้เข้าประเทศก็หดหายลดน้อยถอยลงไปด้วยเช่นกัน!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”