เมื่อวันที่  7 ธันวาคม 2565 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ของสหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้ชาวอเมริกันสวมหน้ากากอนามัยเพื่อเป็นการช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจในช่วงฤดูหนาวปีนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่โรคโควิด-19 โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus – RSV) กำลังระบาดพร้อมกัน

แพทย์หญิงโรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา ระบุว่า การสวมหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพ เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันที่จะช่วยลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจในช่วงเทศกาลวันหยุดปีนี้ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ประชาชนล้างมือเป็นประจำ และกักตัวในที่พักอาศัย หากมีอาการป่วย รวมทั้งเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นและวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ หลังอัตราการฉีดวัคซีนดังกล่าวในประชากรกลุ่มเสี่ยงลดลง

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 หน่วยงานกำกับดูแลด้านสาธารณสุขของอังกฤษ อนุมัติใช้วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ ในเด็กเล็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี วัคซีนที่ฉีดจะมีปริมาณน้อยกว่าคนทั่วไป การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากได้ทบทวนข้อมูลจากการทดลองที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งได้ฉีดวัคซีนปริมาณ 3 ไมโครกรัม ให้แก่เด็กเล็กกว่า 4,500 คน เป็นปริมาณที่น้อยกว่าใช้ฉีดในผู้ใหญ่ 10 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ปลอดภัย โดยจะฉีด 3 เข็ม เข็มแรกห่างจากเข็ม 2 นาน 3 สัปดาห์ ส่วนเข็มสุดท้ายเว้นระยะห่างอีกอย่างน้อย 2 เดือน          

ข้อมูลจากสถาบันกุมารเวชศาสตร์ (American Academy of Pediatrics – AAP) ของสหรัฐอเมริกา และสมาคมโรงพยาบาลเด็ก ระบุว่า พบเด็กติดเชื้อโควิด-19 กว่า 114,000 คน ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มียอดเด็กติดเชื้อโควิด-19 สะสมแล้วกว่า 15 ล้านคน

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565 มีข้อมูลระบุว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา อนุมัติการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ปรับปรุงสูตรให้มีประสิทธิภาพต้านเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน ให้แก่เด็กที่มีอายุ 6 เดือน – 5 ปี หลังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (Food and Drug Administration – FDA) อนุมัติการใช้วัคซีนโควิด-19 ที่ปรับปรุงสูตรของโมเดอร์นา และไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ในเด็กที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป

นายแพทย์ อาชิช จาห์ ผู้ประสานงานด้านการรับมือโรคโควิด-19 ประจำทำเนียบขาวของสหรัฐอเมริกา กล่าวระหว่างการประชุมทางไกลของศูนย์ประสานงานด้านการรับมือโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาว เรียกร้องให้ชาวอเมริกันที่ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนเดือนกันยายน ที่ผ่านมา เข้ารับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ที่ปรับสูตรให้มีประสิทธิภาพต้านเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน ของโมเดอร์นา และไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในฤดูหนาวปีนี้

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย บีคิว.1 และบีคิว 1.1 ซึ่งสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกัน และแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2565 จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กลับมาพุ่งสูงขึ้นในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 55 ขณะที่อัตราผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในรอบสัปดาห์ล่าสุด จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 65

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้สำนักงานสาธารณสุขนครนิวยอร์ก ต้องออกประกาศขอความร่วมมือให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะทั้งในและนอกอาคาร ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มาแล้วกี่เข็มก็ตาม เนื่องจากการแพร่ระบาดของทั้งสองโรคในช่วงฤดูหนาวปีนี้ มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการรู้เท่าทันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของผู้คนทั่วไปในสังคม จะได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการป้องกันตนเองและลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อโควิด-19 จึงขอนำข้อความเรื่อง “โควิด-19 บทเรียนที่ได้จากเวลาผ่านไป 3 ปี” ซึ่ง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราชบัณฑิต ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2565 ดังนี้

จากระยะเวลาที่ผ่านมา 3 ปี เราได้เรียนรู้ เกี่ยวกับโรคโควิด-19 และ เปลี่ยนแปลงความเข้าใจมากขึ้น ดังนี้

  1. โรคโควิด-19 เป็นแล้วเป็นอีกได้ การติดเชื้อซ้ำ หรือมีอาการของโรคซ้ำ เกิดขึ้นได้ เหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ RSV ไม่เหมือนกับโรคหัด ตับอักเสบ เอ สุกใส ที่เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีภูมิต้านทานป้องกันโรคตลอดชีวิต
  2. ภูมิคุ้มกันหมู่ที่มีการพูดกันมาก ในระยะแรก เพื่อหวังจะยุติการระบาดของโรค ไม่สามารถใช้ได้กับ covid-19 ถึงแม้ว่าประชาชนเกือบทั้งหมดมีภูมิต้านทาน โรคก็ยังเกิดอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้หายไปไหน
  3. โรคโควิด-19 จะเป็นโรคตามฤดูกาล สำหรับประเทศไทยจะมีจุดสูงสุดของการระบาดในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน และช่วงที่ 2 ในกลางเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่จะน้อยกว่าในช่วงแรก
  4. ความหวังที่จะใช้วัคซีนในการยุติการระบาดของโรค หรือควบคุมการระบาด อย่างในปีแรกที่คาดหวัง จึงไม่สามารถใช้ได้
  5. วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่มีวัคซีนตัวไหนเป็นวัคซีนเทพ อย่างที่ตอนแรกทุกคนเรียกร้อง วัคซีนทุกตัวไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ลดความรุนแรงของโรคลง ลดอัตราการเสียชีวิต
  6. ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากวัคซีน ไม่ว่าจะสูงต่ำที่ตรวจวัดกัน ไม่สามารถที่จะมาป้องกันการติดเชื้อได้ ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจวัดภูมิต้านทาน ยกเว้นในการศึกษาวิจัยเท่านั้น
  7. การดูแลที่สำคัญคงจะต้องเน้นกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการเสียชีวิตด้วยวัคซีน ต่อไปจะต้องเน้นกลุ่มเปราะบางเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่
  8. การตรวจวินิจฉัยว่าติดเชื้อหรือไม่ ปัจจุบันใช้เพียง ATK ก็เพียงพอ ถึงแม้ว่าจะมีความไวต่ำกว่า realtime RT-PCR ด้วยข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายและระยะเวลา เราหมดเงินไปมากแล้ว
  9. สิ่งสำคัญที่ต่อไปจะเน้นการรักษาในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะการใช้ยาต้านไวรัส ที่มีประสิทธิภาพ และเป็นไปได้ต้องการที่ดีกว่าในปัจจุบัน การศึกษาในประชากรกลุ่มเล็กส่วนใหญ่จะได้ผลดี แต่เมื่อมาใช้จริงกับบมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการศึกษา เช่นเดียวกันกับวัคซีน การทดลองได้ผลดีแต่เมื่อใช้จริง ประสิทธิภาพน้อยกว่าการทดลองมาก
  10. ระยะเวลาการกักตัว น้อยลงมาโดยตลอด ระยะแรกต้องเข้มงวดเรื่องการแพร่กระจายให้เป็นศูนย์ แต่ปัจจุบันโรคติดต่อง่าย จึงใช้มาตรการเข้มงวดและระเบียบวินัย การกักตัวอยู่ที่บ้าน ไม่ใช่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามแล้ว โรงพยาบาลจะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการมากเท่านั้น เหมือนในภาวะปกติ
  11. ในอนาคตเมื่อประชากรส่วนใหญ่ติดเชื้อ ก็จะเกิดภูมิต้านทานแบบลูกผสม จะมีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรคได้เป็นอย่างดี การฉีดวัคซีนบ่อย จะไม่มีความจำเป็น ไวรัสเองก็จะเปลี่ยนพันธุกรรมไปเรื่อยๆ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้
  12. กลุ่มประชากรที่ยังไม่มีภูมิต้านทานหรือไม่เคยติดเชื้อและไม่เคยได้รับวัคซีนเลย จะเป็นกลุ่มเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด ขึ้นไป จนกว่าจะได้รับวัคซีนหรือการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามการติดเชื้อในวัยเด็ก ความรุนแรงน้อยกว่าในวัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ ในวัยเด็กช่วง 6 เดือนแรก จะได้รับภูมิบางส่วนส่งต่อจากมารดา เหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไปเช่น RSV และก็จะเริ่มไปติดเชื้อหลัง 6 เดือนไปแล้ว
  13. ระยะเวลาต่อไป ชีวิตก็จะเข้าสู่ภาวะปกติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และโรคนี้ก็จะเป็นโรคทางเดินหายใจโรคหนึ่ง เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆที่เกิดจากเชื้อไวรัส
  14. ทุกชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป และเชื่อมั่นว่า ความรุนแรงของโรคมีแนวโน้มที่จะลดลงเหมือนกับโรคทางเดินหายใจเช่นไข้หวัดใหญ่ RSV
  15. องค์ความรู้ใหม่ด้วยงานวิจัย ยังจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ความรู้นั้นในบริบทของประเทศไทย

…………………………
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม

อ่านเพิ่มเติม : โควิด-19 ไวรัสมรณะ คร่าชีวิตชาวโลก 6.6 ล้านคน