สถานการณ์ระบาดใหญ่ (pandemic) ของโควิด-19 ทั่วโลกมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะการมีภูมิคุ้มกันของประชากรโลกที่ได้รับวัคซีนและมีการระมัดระวังป้องกันตนเองจากการได้รับเชื้อ อย่างไรก็ตามประชากรโลกยังไม่อาจนิ่งนอนใจหรือชะล่าใจกับผลกระทบที่จะได้รับจากการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ซึ่งในขณะนี้มีรายงานเกี่ยวกับข้อมูลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในทั่วโลกและประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคยุโรป(European Centre for Disease Prevention and Control-ECDC) ระบุว่า การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในยุโรป ซึ่งข้อมูลขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรปเผยให้เห็นว่า เฉพาะในยุโรปมีจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 2 ตุลาคม 2565 มากถึงร้อยละ 8 จากสัปดาห์ก่อนหน้านี้

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 นายฮันส์ คลูจ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำยุโรป และแพทย์หญิงแอนเดรีย แอมมอน ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคยุโรปได้แถลงการณ์ร่วม  มีความว่า “…แม้พวกเราจะไม่อยู่ในที่ที่พวกเราอยู่เมื่อปีที่แล้ว แต่ก็มีความชัดเจนว่า การระบาดของโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด และโชคไม่ดีที่มีสิ่งบ่งชี้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในยุโรปกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคลื่นการระบาดระลอกใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว…”  และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเจ้าหน้าที่สาธารณสุขฝรั่งเศสก็กล่าวว่า ฝรั่งเศสเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 8 แล้ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลกยังคงกำหนดให้การระบาดของโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ  แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกจะดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่ยังเร็วเกินไปที่จะยกเลิกการเตือนภัยระดับสูงสุด เนื่องจากเชื้อโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและยังคงมีความเสี่ยงอีกมาก

นายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกใหความเห็นด้วยกับคำแนะนำของคณะกรรมการฉุกเฉินองค์การอนามัยโลก ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการเสริมสร้างการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งขยายการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ การรักษา และการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 องค์การยายุโรป (European Medicines Agency-EMA) เตือนว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะเพิ่มขึ้นในฤดูหนาวนี้ และเรียกร้องให้ฉีดวัคซีนอีกครั้ง หน่วยงานกำกับดูแลยาของสหภาพยุโรป(European Union-EU) เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในยุโรปเตรียมพร้อมรับมือคลื่นการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในขณะที่ฤดูหนาวกำลังจะมาถึง

นายมาร์โค คาวาเลรี หัวหน้าหน่วยงานด้านภัยคุกคามต่อสุขภาพและยุทธศาสตร์วัคซีน  องค์การยายุโรป กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า เมื่อช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่เพิ่มขึ้นในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผลมาจากการสร้างภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีน แต่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเดือนแห่งฤดูหนาวได้มาถึง ซึ่งไวรัสพัฒนาตัวเองได้อยางรวดเร็ว และเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ของเชื้อโอมิครอน  บีคิว.1.1 และสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ จะมาแทนที่เชื้อกลายพันธุ์บีเอ.5 ซึ่งวัคซีนเข็มกระตุ้นสุดท้ายที่ฉีดไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อาจลดประสิทธิภาพลง พร้อมกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565   นายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก  กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 และการละเลยต่อการป้องกันตนเอง เปิดโอกาสให้เชื้อกลายพันธุ์เกิดขึ้น ซึ่งกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลกในขณะนี้ และยังกล่าวด้วยว่าประเทศต่างๆ รายงานประชาชนกว่า 8,500 คนเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นจำนวนที่ไม่สามารถยอมรับได้ หลังเกิดการระบาดใหญ่ในห้วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งๆที่มีเครื่องมือป้องกันการติดเชื้อและการเสียชีวิต และยังกล่าวเตือนว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะผ่านพ้นภาวะวิกฤตไปแล้ว แต่ไม่ควรวางใจ เนื่องจากยังมีการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะในจีนซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการที่ประเทศต่างๆผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคเป็นการสร้างเงื่อนไขที่สมบูรณ์แบบให้เชื้อโควิด-19 สามารถกลายพันธุ์ได้อีกเรื่อยๆ โดยเชื้อจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2565  มีข้อมูลเกี่ยวกับประชากรโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19   ผู้ติดเชื้อสะสม 650,236,784 ราย  ผู้ที่ได้รับการรักษาหายป่วยสะสม 627,244,280   ราย   ผู้เสียชีวิตสะสม  6,647,649  ราย   กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  ผู้ติดเชื้อ 4,284 ราย ผู้เสียชีวิต 105 ราย